พลาสมาของผู้ป่วย Covid-19 ที่หายแล้ว มีประโยชน์อย่างไร

สภากาชาดไทย เผยแพร่คลิปวิดีโอ พลาสมาของผู้ป่วย Covid-19 ที่หายแล้ว เปรียบเสมือนเป็นเซรุ่มใช้รักษาโรค ที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้

คลิปวิดีโอ "พลาสมาของผู้ป่วย Covid-19 ที่หายแล้ว มีประโยชน์อย่างไร" โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ย้ำว่า พลาสมาของผู้ที่หายจากโรค COVID-19 จะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้รักษาผู้ปวยที่มีอาการรุนแรง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเปรียบเสมือนเป็นเซรุ่มใช้รักษาโรคได้ ดังนั้น มาตรการในการรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 อีกทางหนึ่ง ที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายแล้ว รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

โดยภูมิต้านทานต่อไวรัส COVID-19 ที่ร่างกายสร้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นสูงหลังสัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ จะช่วยยับยั้งไวรัส COVID-19 ไม่ให้เข้าไปทำลายเซลล์ปอดจนทำให้ปอดอักเสบรุนแรง และแพร่กระจายสร้างความเสียหายไปทั่วร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น

จากผลการศึกษาการใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยในเมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่ามีรายงานผลการรักษาที่ชัดเจนว่า พลาสมาของผู้ป่วยที่หายดีแล้วสามารถนำมารักษผู้ป่วยและให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็อนุญาตให้ใช้

ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งทำหน้าที่ในการรับบริจาคพลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ อยู่แล้ว จึงขอรับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่หายดีแล้ว เพื่อนำไปช่วยรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ต่อไป

โดยผู้ประสงค์จะบริจาคพลาสมา ต้องเป็นผู้ป่วยที่หายดีไม่มีอาการ ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวที่บ้านครบ 14 วันแล้ว จึงจะสามารถมาบริจาคพลาสมาได้ หากมีผู้ที่บริจาคพลาสมาพิเศษนี้จำนวนเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ผู้ป่วยในประเทศได้มีโอกาสการรักษาและรอดชีวิตจากโรด COVID-19 เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ด้าน ผศ.นพ.พจน์ อินหลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์รพ.ราชวิถี บอกว่า เพราะ "น้ำเหลืองหรือพลาสมา" จะไปทำหน้าที่ "บล็อกหรือหยุดเชื้อโคโรนาไวรัสที่ลุกลามในปอด" ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ให้รังผึ้งเป็นเสมือนปอดของคน และในรังผึ้งมีรูหลายรู ซึ่งมีผึ้งเสมือนเป็นไวรัส คอยบินไปเกาะรู น้ำเหลืองตัวนี้ก็ทำหน้าที่ไปอุดรูพอไม่มีรูผึ้งก็ไม่ไปเกาะ ส่วนที่น้ำเหลืองไปหยุดการลุกลามได้เพราะในน้ำเหลืองมีภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาต่อสู้กับโควิด-19 อยู่ 2 ชนิด คือ igM กับ igG ซึ่งในคนป่วยที่รักษาหายแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันนี้อยู่ อันดับแรก แพทย์จะนำไปใช้กับผู้ป่วย "อาการหนัก" ก่อนเพราะกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวมาเป็นพื้นฐาน และร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันสองชนิดนี้ได้ ส่วนการบริจาค แพทย์จะเจาะเอาเลือดคนที่หายป่วยโควิด-19 แล้ว ไปสกัดให้เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำเหลือง จากนั้นจะสกัดเอาภูมิคุ้มกันตัวอื่นออกให้เหลือสองชนิดที่ว่าแล้วนำไปรักษาผู้ป่วย