'กอบกาญจน์-ขัตติยา' 2ผู้นำหญิง 'KBANK' ประกาศพาลูกค้าฝ่าวิกฤติโควิด

'กอบกาญจน์-ขัตติยา' 2ผู้นำหญิง 'KBANK' ประกาศพาลูกค้าฝ่าวิกฤติโควิด

สองผู้นำหญิงคนใหม่ของ “KBANK” “กอบกาญจน์-ขัตติยา” ประกาศความพร้อมในการนำพา “องค์กร-ลูกค้า-พนักงาน-ประเทศ” ผ่านพ้นวิกฤติโควิด ท่ามกลางเศรษฐกิจหดตัว มั่นใจฐานะการเงินแข็งแกร่ง วางเป้าหมายระยะยาวขึ้นเป็นธนาคารหลักในภูมิภาค

ธนาคารกสิกรไทย หรือ "เคแบงก์" ภายใต้ 2 ผู้นำหญิงคนใหม่ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" ประธานกรรมการ และ "ขัตติยา อินทรวิชัย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แถลงข่าวประกาศความพร้อมในการนำพาองค์กร รวมทั้ง "ลูกค้า" และ "พนักงาน" ของ เคแบงก์" ฝ่าวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ไปพร้อมๆ กับการนำพา "เคแบงก์" สู้ศึกกระแสดัสรัปชัน เพื่อผลักดันให้ เคแบงก์ ก้าวขึ้นเป็นธนาคารหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" ประธานกรรมการ กล่าวว่า ช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปัญหาคุณภาพสินเชื่อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจธนาคาร โดยอาจต้องติดตามสถานการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่พึ่งพิงตลาดและกำลังซื้อในประเทศ และที่พึ่งพิงตลาดส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญในการลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยลดภาระการกันสำรองของสถาบันการเงิน

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้การทบทวนประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 คาดว่าจะหดตัว -5.0% ท่ามกลางสมมติฐาน ดังต่อไปนี้ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ในภายในไตรมาสที่ 2,เศรษฐกิจโลกและไทยคาดว่า จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2563 ,นโยบายการเงินและการคลังที่ทยอยออกมาแล้ว และที่กำลังจะตามมา จะช่วยประคองกลไกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินให้สามารถดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ

ทิศทางของธนาคารกสิกรไทยที่ดำเนินต่อจากนี้ คือ เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในหลาย ๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า นอกจากการฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำ ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเสมอที่จะรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ด้วยบทบาทและหน้าที่ของประธานกรรมการ ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ได้ประเมินฝ่ายบริหารและศักยภาพพื้นฐานของธนาคารแล้ว ก็มั่นใจว่า ยังดำรงความแข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อมั่นว่าฝ่ายจัดการจะสามารถบริหารธนาคารให้ก้าวผ่านโจทย์ธุรกิจในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อรับมือดิสรัปชั่นและความท้าทายอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเรียบร้อย

“ มั่นใจว่าธนาคารจะพ้นวิกฤติไปได้ ดิฉันเองในฐานะประธานมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลทำอย่างไรให้ธนาคารบริหารจัดการสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีบริหารความเสี่ยงพอเหมาะ สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการกับฝ่ายจัดการซึ่งต้องเป็นความสัมพันธ์ที่มีอิสระต่อกันแต่ทำงานร่วมกันได้”

ด้าน "ขัตติยา อินทรวิชัย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจในขณะนี้ ถือว่ามีความท้าทายอย่างมาก ทั้งจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการ “ดีสรัป” ทางเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ ธนาคารกสิกรไทย ก็มีหลายบทบาท อย่างแรกต้องดำเนินธุรกิจทำให้ผลดำเนินงานของเคแบงก์เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง ธนาคารยังต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

"ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป เราต้องเพิ่มอำนาจให้กับทุกธุรกิจของลูกค้า และเราต้องอ่านทางให้ออกว่าลูกค้าต้องการอะไร เพื่อที่จะพาลูกค้าฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้"

นางขัตติยา ย้ำว่า ธนาคารต้องทำให้ลูกค้าผ่านวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกันต้องช่วยให้เขาเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ช่วยให้เขามีต้นทุนการทำงานที่ลดลง ที่สำคัญ ธนาคารจะรุกการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยให้บริการมาก่อน และขณะเดียวกัน ธนาคารจะต้องทำให้ระบบการชำระเงินเดินหน้าได้ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายที่หนักพอสมควร

นอกจากนี้ ขัตติยา ยังย้ำว่า ในภาวการณ์เช่นนี้ ธนาคารกสิกรไทย ไม่มีนโยบายลดพนักงานอย่างแน่นอน ซึ่งธนาคารจะดูแลพนักงานทุกคนซึ่งธนาคารทราบดีว่า สุขภาพของพนักงานถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราจะมีมาตรการอย่างเข้มงวดในการดูแลพนักงาน รวมทั้งลูกค้าเพื่อให้การมาใช้บริการกับธนาคารมีความปลอดภัย

“โจทย์เร่งด่วนในเวลานี้ นอกจากจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ แคแบงก์ ต้องผ่านวิกฤติเศรษฐกิจนี้ไปให้ได้ และเราต้องพาลูกค้า พาพนักงาน พาประเทศ และ ระบบการเงิน ฝ่ายวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งในอนาคตเราตั้งเป้าหมายว่า นอกจากการขึ้นเป็นธนาคารหลักของประเทศแล้ว เราจะขึ้นเป็นธนาคารหลักของภูมิภาคด้วย”

ขัตติยา กล่าวว่า หลังผ่านวิกฤติครั้งนี้ไป ธนาคารจะเป็นองค์กรที่ใหญ่และมีความคล่องตัวมากขึ้น เข้าใจลูกค้า และได้ยินเสียงลูกค้า ตลอดจนสามารถที่จะดักทางได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งธนาคารจะต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้ เพื่อที่จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน

“เราจะอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า มีระบบการปล่อยกู้ที่แข็งแกร่ง และเราจะผสมผสานช่องทางการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ รวมทั้งเราจะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่เราไม่เคยให้บริการมาก่อนแบบชาญฉลาด ผ่านดาต้าที่เรามีอยู่เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้”

นอกจากนี้ เธอยังกล่าวย้ำว่า แม้เวลานี้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็เผชิญกับภาวะชะลอตัวมาพักหนึ่งแล้ว แต่ด้วยฐานทุนของธนาคารที่แข็งแกร่ง โดยปัจจุบันธนาคารมีเงินกองทุนขั้นที่หนึ่ง หรือ “เทียร์วัน” ที่ 16% ซึ่งธนาคารจะรักษาความเข้มแข็งของเงินกองทุนนี้เอาไว้ แน่นอนว่าแม้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ด้วยฐานะเงินกองทุนที่เข้มแข็ง ธนาคารมีความมั่นใจว่าจะผ่านไปได้แน่นอน