โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเรา "ไม่ติดต่อกัน" Social Distancing ตัดวงจรโควิด

โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเรา "ไม่ติดต่อกัน" Social Distancing ตัดวงจรโควิด

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ถ้าเราไม่ทำ  Social Distancing ภายในวันที่ 15 เมษายน 2563 เราจะมีผู้ป่วย Covid-19 จำนวน 350,000 คน 

จากคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ว่า "ถ้าเราไม่ทำ  Social Distancing ภายในวันที่ 15 เมษายน 2563 เราจะมีผู้ป่วย Covid-19 ถึงจำนวน 350,000 คน แต่ถ้าเราสามารถทำ  Social Distancing ได้ดี ในวันที่ 15 เมษายน 2563 เราจะเหลือผู้ที่ติดเชื้อไม่ถึง 25,000 คนหมายถึงว่า Social Distancing เป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในบรรดาการป้องกันการติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งก็คือการป้องกันตัวเราไม่ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ 

158582683054

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช เรามีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย Covid-19  ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย ปานกลางไปจนถึงรุนแรง สำหรับผู้ป่วย Covid-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยที่โรงพยาบาลศิริราชรับเข้ามาเพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อกับผู้ใกล้ชิด จะเป็นกลุ่มของคนที่ไม่สามารถที่จะกักตัวเองโดยที่ไม่เจอญาติพี่น้องได้ โดยเราได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 50 เตียงไปยัง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล .ศาลายา .นครปฐม เพื่อรองรับผู้ป่วยCovid-19 ที่มีอาการไม่มาก

โดยโรงพยาบาลศิริราช เป็นเครือข่ายหลักของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งได้มีการตกลงกันว่าถ้าเกิดเป็นผู้ป่วย Covid-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ให้นำส่งโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็ก หรือขนาดกลางเช่น โรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาค หรือโรงพยาบาลจังหวัด ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีการสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยหนักที่มีความต้องการใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อ หรือโรคปอด ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจต่างๆโดยทั่วประเทศมีโรงเรียนแพทย์ประมาณ 23 แห่งที่มีการเตรียมพื้นที่ไว้คอยรองรับผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าว

158582683081

"ผมมองว่าประเด็นที่เป็นจุดศูนย์กลางเลย คือ คนไข้ ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความเสี่ยงในการดูแล และก็จะทำให้ต้องมีการระดมทุนมาเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ให้กับแพทย์ ดังนั้นหากเราตัดวงจรด้วย Social Distancing เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกัน Covid-19 ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ติดจากในบ้านมีไม่มากเท่าจากนอกบ้าน"

"สุดท้ายอยากจะให้ทุกคนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งแรกที่อยากให้เกิดขึ้นเมื่อพ้นช่วง การระบาด อยากขอให้คนไทยเรากลับมาช่วยฟื้นฟูประเทศในทุกๆ ด้าน เพราะว่าไม่ใช่เรื่องสุขภาพเท่านั้นที่เราเสียไป แต่จะเป็นเรื่องของทางด้านสุขภาพจิต เศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ ซึ่งเราต่างกำลังรอคอยกันว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยจะกลับมาเป็นประเทศที่มีความสุข และเต็มไปด้วยรอยยิ้มได้ในเร็ววันที่สุด" รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นริศ กิจณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย