รู้ทันก่อนมีโทษ กฎหมายและข้อห้ามของ 'Fake News'

รู้ทันก่อนมีโทษ กฎหมายและข้อห้ามของ 'Fake News'

ส่องความหมายของ Fake News รวมถึงข้อห้ามในสถานการณ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบนี้ และในกฎหมายไทย กรณีปกติ มีอะไรบ้าง?

ในภาวะที่ประเทศมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง หรือ Covid-19 อย่างเช่นทุกวันนี้ หนึ่งในเรื่อง “ต้องห้าม” ที่กำหนดไว้ชัดเจนในข้อกำหนด ฉบับที่ 1 คือห้ามเสนอข่าวหรือข้อมูลในลักษณะที่เป็น Fake News ซึ่งถือเป็นข้อบังคับเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการสื่อสารในสถานการณ์ปัจจุบัน

  • อย่างไรจึงเรียกว่า Fake News 

โดยทั่วไป Fake News หรือ Junk/hoax News คือข้อมูล ข้อความ หรือข่าว “อันเป็นเท็จหลอกลวงหรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริง” ที่ถูกนำเสนอและเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ การออกอากาศ หรือสื่อออนไลน์ (Online social media) ซึ่งเจตนาของผู้สร้าง Fake News คือ การจงใจให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงเพื่อหวังผลประโยชน์จากความเข้าใจผิดนั้น ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาด(Misinformation) ดังกล่าวไปยังบุคคลอื่นๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ

โดยลักษณะของ Fake News สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น 1) การพาดหัวข่าวหรือหัวเรื่องเพื่อหลอกให้คนเข้าไปอ่านต่อ (Clickbait) หรือบางกรณีอาจเป็นการพาดหัวข่าวแบบ Mislead heading ซึ่งเมื่อเปิดเข้าไปแล้วอาจพบเนื้อหาที่ไม่ตรงกับหัวข้อข่าวนั้น หรือ 2) การนำเสนอข่าวเพื่อ ให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด (Misleading Content)โดยในบางกรณีอาจมีการหลอกเพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เช่น การหลอกชิงโชค หรือหลอกให้กรอกข้อมูลเพื่อรับบัตรกำนัล หรือ 3)นำเสนอข่าวในลักษณะเสียดสีและล้อเลียน(Parody)ซึ่งกรณีนี้อาจไม่ได้นำเสนอหัวข่าวอันเป็นเท็จ แต่เป็นการนำเสนอภาพตัดต่อหรือข้อความบิดเบือนเพื่อความสนุกสนาน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้ Fake News แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาจากรูปแบบการนำเสนอข่าวที่ปัจจุบันนิยมนำเสนอในรูปแบบDigital News และเทรนด์ในการทำการตลาดแบบ Viral Marketing (การตลาดแบบไวรัส) ที่ใช้เทคนิคเลียนแบบการแพร่กระจายของไวรัส โดยใช้ Social Media เป็นตัวกลางในการสร้างกระแสการตลาดเพื่อช่วยเผยแพร่ข้อมูล/ข่าวสารให้คนพูดถึงและแชร์ต่อกันออกไปอย่างไม่จำกัด

  • ข้อห้าม Fake News ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน

พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้กำหนดห้ามการนำเสนอ Fake News เกี่ยวกับ “สถานการณ์ Covid-19” ไว้ในสองลักษณะ คือ 1) ห้ามนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นความจริงทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือ 2) ห้ามนำเสนอข่าวโดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งการสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวมีผลกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

อย่างไรก็ดี หากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้กำหนดให้ผู้นำเสนอ Fake News มีความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ 2) พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (จำคุกไม่เกิน 2 ปี/ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท) 3) พ.ร.บ.โรคติดต่อ จำคุกไม่เกิน 1 ปี/ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท) 4) และหากการนำเสนอ Fake News ดังกล่าวกระทบต่อราคาสินค้าหรือบริการ ก็เป็นไปได้ว่า กรณีอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท 

  • ข้อห้าม Fake News ในกฎหมายไทย (กรณีปกติ)

ในกรณีปกติ การนำเสนอ Fake News ก็มีความผิดตามกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินเองก็ได้กำหนดให้ความผิดในการนำเสนอ Fake News ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในกรณีปกติ (ซึ่งได้แก่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) ดังนั้น ผู้ที่ผลิต นำเสนอ และเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน โดยได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ และผลจากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชนย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ม.14) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

  • แชร์แบบตั้งใจ ยังไงก็ผิดเท่ากัน

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กฎหมายได้กำหนดโทษสำหรับ “ผู้ส่งต่อ” (ผู้แชร์) ข้อมูลอันเป็นเท็จไว้ด้วย โดยผู้ส่งต่อจะผิดก็ต่อเมื่อ รู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ” แต่ยังส่งต่อข้อความนั้น ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ ผู้ส่งต่อ” มีความผิดและได้รับโทษเช่นเดียวกันกับผู้นำเสนอข่าวเท็จดังกล่าวด้วยและหากการนำเสนอและส่งต่อ Fake News นั้น ทำให้บุคคล (บุคคลธรรมดา หรือองค์กร/หน่วยงาน) เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ยังอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

นอกจากนี้ หากการส่งหรือแชร์ Fake News ดังกล่าว มีการระบุให้ผู้ได้รับต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล์ เพื่อส่งบัตรกำนัลหรือเพื่อส่งต่อโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจขัดต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะประกาศใช้ในกลางปีนี้อีกประการหนึ่งด้วย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ท่านจะพบเห็นการส่งข้อมูลลวงให้กรอกข้อมูลเพื่อรับเงิน/บัตรกำนัลจำนวนมากผ่าน Social Media รวมถึงการลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 5,000 บาท ตามมาตรการเยียวยาของกระทรวงการคลังผ่านเว็ปไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เองนั้น ผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ได้มีการสร้างเว็ปไซต์ปลอมเพื่อลวงให้คนลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก และยังมีการรายงานว่ามีกลุ่มมิจชาชีพรับจ้างการลงทะเบียนแทนเพื่อหลอกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางทุจริตอีกด้วย ในการนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจาก “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย” (ผ่าน fb หรือหน้าเว็ปไซต์ www.antifakenewscenter.com) ที่จัดตั้งโดยกระทรวงดิจิทัลฯซึ่งทำหน้าที่ ติดตามตรวจสอบ และกลั่นกรองข้อมูลบนสื่อออนไลน์ ดังนั้น หากท่านไม่แน่ใจในแหล่งข่าวใด สามารถสืบค้น รวมถึงแจ้งเบาะแส Fake News ไปยังศูนย์ดังกล่าวได้

ท้ายที่สุด ในสถานการณ์เช่นนี้ สติคงเป็นสิ่งสำคัญในการเสพและแชร์ข่าว... ตระหนักได้แต่อย่าตระหนก!

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]