วัดฝีมือ 'ทีมเศรษฐกิจ' เมื่อ 'มหาวิกฤติ' มาเยือน

วัดฝีมือ 'ทีมเศรษฐกิจ' เมื่อ 'มหาวิกฤติ' มาเยือน

วิกฤติครั้งนี้เป็นบททดสอบทีมเศรษฐกิจปัจจุบัน จะนำพาประเทศรอดมหาพายุไปได้อย่างไร เพราะไม่เพียงการอัดฉีดมาตรการเยียวยาต่างๆ ให้กับประชาชน แต่ฝั่งภาคธุรกิจ อาจต้องนำกลไกเข้าไปช่วยส่งผ่านสภาพคล่อง เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดด้วย

วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ซึ่งลุกลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ได้ลากเอา “เศรษฐกิจโลก” เข้าสู่ “วิกฤติ” อย่างเต็มรูปแบบ และเป็น “มหาวิกฤติ” แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน เพราะรอบนี้ “กิจกรรม” ทางเศรษฐกิจหยุดชะงักแบบพร้อมกันทั่วทั้งโลก แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งยังเอาตัวเองไม่รอด โดย “มูดี้ส์ อนาไลติกส์” ระบุในรายงานล่าสุดว่า “โควิด-19” ได้สร้าง “สึนามิ” ทางเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจโลกในเวลานี้เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะที่ “ตกต่ำอย่างรุนแรง”

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ไปเรียบร้อยแล้ว และสถานการณ์ในเวลานี้ย่ำแย่กว่าวิกฤติการเงินโลกปี 2551 อย่างไรก็ตาม “ไอเอ็มเอฟ” เชื่อว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ในปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว และเป็นการดีดตัวครั้งใหญ่ ถ้าประเทศต่างๆ ประสบความสำเร็จในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมไปถึงมีมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องส่งผลต่อกิจการต่างๆ ถึงขั้นล้มละลาย และมีการปลดพนักงานจำนวนมากตามมา

ด้วยเหตุนี้ ไอเอ็มเอฟ จึงเรียกร้องให้กลุ่ม “จี20” ออกมาตรการสนับสนุนด้านการคลังอย่างมีเป้าหมายเจาะจง เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยพยุงให้ภาคส่วนเหล่านี้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองและกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วที่สุด ...จะเห็นว่าเวลานี้ทั้ง “รัฐบาล” และ “ธนาคารกลาง” จากทั่วโลก ต่างทุ่มสรรพกำลังที่ตัวเองมีทั้งหมด อัดฉีดมาตรการดูแล เพื่อเยียวยาและป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นล้มละลาย เพราะการปล่อยให้บริษัทต่างๆ ต้องปิดกิจการไปทั้งที่ยังมีศักยภาพ แต่มาสะดุดเพราะปัญหาสภาพคล่องในช่วงเวลาเช่นนี้ แม้อนาคตจะผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ปัญหา “สภาพคล่อง” ถือเป็นปัญหาใหญ่หลวงสุดในวิกฤติคราวนี้ เราจึงเห็น “ธนาคารกลาง” หลายแห่งทั่วโลก ประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแบบชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” ที่ออกมาตรการ “คิวอี” แบบไม่อั้น แม้ว่าจะทำให้ “งบดุล” ของเฟดพุ่งทะลุ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หรือแม้แต่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) ก็ประกาศฉีดสภาพคล่องแบบไม่จำกัดนาน 3 เดือน เรียกว่าอัดฉีดแบบไม่ต้องมากังวลกับ “วินัยการเงิน” เพราะห้วงเวลานี้ควรต้องประคับประคองภาคธุรกิจให้อยู่รอดไว้ก่อน

สำหรับประเทศไทย เราเห็น “รัฐบาล” อัดฉีดมาตรการเยียวยาต่างๆ ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ พร้อมจัดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากธนาคารออมสินวงเงิน 1.5 แสนล้าน เพื่อช่วยดูแลภาคธุรกิจ ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เราเห็นการออกมาตรการช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ เห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 0.75% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ เห็นการออกมาตรการดูแลสภาพคล่องในตลาดกองทุนรวมและตลาดตราสารหนี้ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นเพิ่มเติม คือ “กลไก” ที่จะช่วย “ส่งผ่าน” สภาพคล่องเหล่านี้ ไปสู่ภาคธุรกิจที่เขาควรได้รับเพื่อ “หล่อเลี้ยง” ธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางช่วงเวลาที่เผชิญกับ “มหาวิกฤติ” เพราะเวลานี้ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่ ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ...วิกฤติคราวนี้จึงเป็นบททดสอบใหญ่ของ “ทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาลปัจจุบัน ว่าจะสามารถนำพาประเทศรอดพ้นมหาพายุครั้งนี้ไปได้อย่างไร!