วิธีหยุดผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ไว้ที่ 10 รายต่อวัน

วิธีหยุดผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ไว้ที่ 10 รายต่อวัน

สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดมื่อวันที่ 27 มี.ค. พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 1,136 ราย กลับบ้านแล้ว 97 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,034 ราย มีผู้ป่วยหนัก 11 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เสียชีวิตรวม 5 ราย

โดยผู้ป่วยรายใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 30 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย ,กลุ่มสถานบันเทิง 7 ราย และกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 18 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 19 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 10 ราย เป็นคนไทย 9 รายและต่างประเทศ 1 ราย , กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 5 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 4 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 42 ราย

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยใน 52 จังหวัด เป็นคนไทย 88 %ต่างชาติ 12 % กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 จากข้อมูลที่มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คาดว่าจะไปป่วยที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป หากไม่มีมาตรการป้องกันจะมีผู้ป่วยสะสม 25,225 ราย หากทำมาตรการรักษาระยะห่าง( Social Distancing) ได้ 50 % จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และหากทำได้ 80 % จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 ราย

อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลได้ยกระดับความเข้มข้นทุกมาตรการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ปิดพื้นที่และควบคุมการจัดการภายในพื้นที่เสี่ยงสูง อาทิ กรุงเทพฯ ปริมณฑล แหล่งท่องเที่ยว หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีมาตรการเข้าออกเคหสถาน หรือสถานที่พำนักของตนเอง

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน / ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง หอบหืด ภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันรางกายต่ำ เช่น กำลังรับยากดภูมิคุ้มกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายคือ กลุ่มเด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ผลการศึกษาการดำเนินการมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม(Social Distancing)ที่จะส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วยขององค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)ระบุว่าหากประชาชนในประเทศร่วมมือทำเพียง 70 % ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลง เพราะจะมีตัวเลขผู้ป่วยพุ่งขึ้นจากการที่ไม่ได้ทำตามมาตรการอีก 30 % แต่หากคนในประเทศไทย 80-90 % ร่วมกันรักษาระยะห่างจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลงทันที

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คาดว่าใน 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะกระโดดขึ้น และผู้ป่วยสะสมแตะ 2,000 รายแน่นอน เป็นผลพวงจากการที่คนจากกรุงเทพมหานครเดินทางกลับต่างจังหวัด ก็จะทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น และต้องยอมรับว่าความพร้อมของทรัพยากรโรงพยาบาลในต่างจังหวัดในการดูแลผู้ป่วยอาการหนักไม่เท่ากับพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเช่น อัตราแพทย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 1 ต่อ 3,000 ขณะที่กรุงเทพฯอยู่ที่ 1 ต่อ 800 จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงการทำมาตราการอยู่บ้านและรักษาระยะห่าง 

 

การที่ทุกคนร่วมใจกันอยู่บ้านแล้วจะหยุดเชื้อได้ เพราะหากในบ้านยังไม่มีคนติดเชื้อ หากออกไปนอกบ้านก็เสี่ยงที่จะไปพบเจอกับคนที่มีเชื้อโดยที่ไม่มีอาการแล้วนำเชื้อเข้ามาติดคนในบ้าน หรือหากคนในบ้านมีผู้ติดเชื้อแล้วไม่อยู่บ้าน ออกไปข้างนอกก็จะนำเชื้อไปติดคนอื่น ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันอยู่บ้าน ร่วมกับการทำมาตรการระยะห่าง เพราะหากมีการติดต่อกัน พูดคุยกันในระยะ 1 เมตร จะมีละอองขนาด 5 ไม่ครอนจากปากคนพูดไปสู่อีกคนประมาณ 3,000 ละออง เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือจึงต้องห่างกัน 2 เมตร และใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้าหากยังไม่มีอาการอะไร

“ถ้าคนไทย 67 ล้านคน ร่วมมือกันทำทั้ง 2 อย่าง คือ อยู่บ้านและรักษาระยะห่าง แต่มีคนเพียง 10 คนที่ไม่ทำ แล้วยังไปปาร์ตี้ ก็จะทำให้คนทั้ง67 ล้านคนแพร่เชื้อได้หมด จึงต้องช่วยกันทำตามคำแนะนำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพราะหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากจริงๆ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขจะดูแลได้ไม่ทัน ก็จะย้อนกลับมาอุปกรณ์ไม่พอ ยาไม่พอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไข้ไม่รอด และบุคลากรทางการแพทย์ถ้าติด 1 คน คนดูแลน้อยไป 1 คน แต่คนป่วยกลับมีเพิ่มขึ้น และบุคลากรติด 1 คน ต้องออกไปกักตัวทั้งทีม 14 วันจะกระทบอย่างมาก"

"จึงต้องทำให้ต้นทางมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลน้อยลง ส่วนการตรวจแล็บโควิดนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องวิ่งไปตรวจ เพราะถ้ามีการแปลผลผิดคนที่ตรวจจะเป็นอันตราย เช่น ตรวจด้วยชุดทดสอบรวดเร็วแล้วผลเป็นลบแล้วคนนนั้นก็ไปดี๊ด๊า ทั้งที่ผลนั้นไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ เพียงแต่ยังไม่เจอเชื้อเท่านั้น” ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์กล่าว

นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค อธิบายด้วยว่าจุดเปลี่ยนของไทยภายหลังวันที่ 15 มีนาคม 2563 มาจาก 3 เหตุการณ์หลัก คือ สถานบันเทิง สนามมวย และการไปร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งการคาดการณ์หากผู้ป่วยรายใหม่ยังเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละประมาณ 100 รายไปเรื่อยๆจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 จะทำให้มีผู้ป่วยถึง 3,500 ราย แต่หากประชาชนช่วยกันป้องกันตัวเอง เว้นระยะห่าง และทำตามมาตรการที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนด ก็จะช่วยทำให้หน่วงสถานการณ์หรือชะลอจำนวนผู้ป่วยลงได้ โดยเป้าหมายคือมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นหลัก 10 รายต่อวัน

158531633176

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยยืนยันในกลุ่มก้อนของสนามมวย ซึ่งรวมทั้งผู้ที่เดินทางไปสนามมวยโดยตรงและผู้ที่สัมผัสจากผู้ที่ไปสนามมวย ในพื้นที่กรุงเทพฯพบผู้ป่วย 86 ราย จังหวัดอื่นๆ 67 ราย ในกลุ่มผู้ที่ไปสนามมวยโดยตรงมีอายุตั้งแต่ 20 ปีถึงมากกว่า 70 ปีพบว่า มีผู้ที่ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยที่ไปสนามมวยอายุน้อยสุดต่ำกว่า 10 ปี และอายุสูงสุดคือมากกว่า 70 ปีแสดงให้เห็นว่ามีการพบผู้ป่วยที่เป็นผู้สัมผัสจากผู้ป่วยที่ไปสนามมวยมาโดยตรง ซึ่งจำนวนต่อวันพบกลุ่มเด็กมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นการแพร่เชื้อเข้าสู่บ้าน จึงต้องมีการเข้มเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างของคนในบ้านด้วย

นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีตัวเลขผู้ป่วยและอัตราแพร่เชื้อสูงที่สุดแล้ว อีกพื้นที่ที่มีความน่ากังวลมากกกว่าพื้นที่อื่นๆ คือ จังหวัดภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่พัทลุงลงไป หรืออยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเขตสุขภาพที่ 12 เนื่องจากมีการพบผู้ป่วยจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ กลับจากสนามมวยและการไปร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย

โดยวันที่ 18 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยในพื้นที่ 16 ราย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพิ่มเป็น 80 ราย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุงและตรัง จะเห็นว่าในช่วง 7 วันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 64 ราย ทำให้มีอัตราแพร่เชื้อใน 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และภูเก็ตอยู่ที่ 1 ต่อ 2.2 คือ 1 คนแพร่ไปได้อีกราว 2 คน อัตราแพร่เชื้อสูงรองจากกรุงเทพฯอยู่ที่ 1 ต่อ 3.4 และจังหวัดอื่นๆอยู่ที่ 1 ต่อ 1.8