สร้างความเข้มแข็ง 'เศรษฐกิจชุมชน'ฝ่าวิกฤติโควิด-ภัยแล้ง

สร้างความเข้มแข็ง 'เศรษฐกิจชุมชน'ฝ่าวิกฤติโควิด-ภัยแล้ง

ปี 2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากเนื่องจากเกิดวิกฤติที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) คาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะติดลบถึง 5.3%

โดยวิกฤติแรกคือวิกฤติที่เผชิญกันทั่วโลกคือการแพร่ระบาดของ “โรคโควิด -19”  ที่นอกจากคุกคามสุขภาพอนามัยของประชากรโลกและยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบหยุดชะงักไปทั้งหมด ส่วนอีกวิกฤติหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญในไม่ช้าก็คือเรื่องของ “ภัยแล้ง” ที่จะกระทบกับผลผลิตการเกษตรและซ้ำเติมกำลังซื้อของแรงงานในภาคเกษตรให้ลดลง 

ในสถานการณ์เช่นนี้นอกจากการประคองเศรษฐกิจในภาพรวมที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านสินเชื่อซอฟโลนท์การชะลอและยืดหนี้ รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานฉับพลันรายละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันไปก็คือารสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อให้เป็นพื้นฐาน เป็นที่พึ่งให้กับสังคมในยามที่เกิดวิกฤติเช่นนี้ 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากระทรวงการคลังได้เตรียมความพร้อมที่จะออกมาช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานและดูแลเศรษฐกิจโดยในระยะที่ 3 จะออกมาภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยจะครอบคลุมถึงการดูแลผลกระทบจากภัยแล้งด้วย ส่วนมาตรการในระยะที่ 2 ในการดูแลเศรษฐกิจยังมีการทำงานร่วมกับชุมชนโดยเป็นมาตรการเพิ่มทักษะในการทำงานโดยให้มีโครงการฝึกอบรมมีเงินใช้ รวมถึงนักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ โดยร่วมกับภาคประชาสังคม มูลนิธิโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มที่ฝึกอาชีพนี้จะได้รายได้จากการฝึกอาชีพครั้งละ 300 บาท และจะเพิ่มรายได้ให้ประมาณ 3000 บาทและช่วยให้มีทักษะอาชีพติดตัวช่วยสร้างความเข้มแข็งชุมชนในระยะยาว 

อีกส่วนหนึ่งที่จะมีงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศหมู่บ้านละ 200,000 บาท โดยให้กองทุนหมู่บ้านไปดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดเล็ก เช่น การขุดบ่อน้ำขนาดเล็กเพื่อรองรับภัยแล้ง หรือจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ในชุมชน โดยล่าสุดมีข้อมูลว่ามีกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศประมาณ 10,000 กองทุนได้มีการเสนอโครงการเข้ามาขอสนับสนุนงบประมาณ 

รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงาน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกล่าวว่าจะสามารถอนุมัติเงินในส่วนนี้โดยจะโอนให้กับกองทุนหมู่บ้านที่มีความพร้อมเบื้องต้นได้ประมาณ 2 พันล้านบาทภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งพอที่จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบของกองทุนหมู่บ้าน และเป็นการช่วยดูแลเศรษฐกิจชุมชนได้ส่วนหนึ่ง 

158531235420

สำหรับการเตรียมความพร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งนอกจากการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ การทำงานของภาคประชาสังคมก็ถือว่ามีความสำคัญ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นตัวอย่างหนึ่งในการสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนสามารถปรับตัวและต่อสู้กับภัยแล้ง

การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าจากการคาดการณ์ วิกฤติภัยแล้งปี 2563 จะรุนแรงโดยต่อเนื่องถึงกลางปี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 % เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะขาดแคลนน้ำใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ปิดทองหลังพระฯจึงเข้าไปร่วมกับพื้นที่ที่จะประสบปัญหาภัยแล้งมาก เช่น การร่วมกับจังหวัดอุดรธานี ดำเนินโครงการนำร่อง “ปลูกผักโรงเรือน แก้ปัญหาภัยแล้ง” เพื่อสร้างรายได้ช่วงขาดแคลนน้ำและมีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี โดยได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ 19 ราย ที่อยู่ในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมโครงการ

โดยโครงการปลูกผักโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เรียกว่าเป็นการทำการเกษตรแม่นยำ ซึ่งสามารถวางแผน กำหนดระยะเวลาการปลูกได้อย่างถูกต้อง มีการจะทำการวิจัยและพัฒนาโครงการ จัดทำเป็นแนวทางการปลูกผักในโรงเรือนฯระบบน้ำหยดแบบแม่นยำ เพื่อขยายผลต่อไป ยังพื้นที่ต้นแบบจังหวัดอื่นๆ

การเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนถือว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เป็นงานหนึ่งที่ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน ถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของการฟันฝ่าวิกฤติที่ถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กันและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในปีนี้