เปิด 3 ปัจจัย ทำไม ‘อิตาลี’ เสียชีวิตจากโควิดมากสุดในโลก

เปิด 3 ปัจจัย ทำไม ‘อิตาลี’ เสียชีวิตจากโควิดมากสุดในโลก

“อิตาลี” ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลกขณะนี้ ด้วยจำนวนกว่า 8,000 คน แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ไวรัสมรณะคร่าชีวิตผู้ป่วยในแดนมักกะโรนีสูงขนาดนี้

นับถึงวันนี้ (27 มี.ค.) ทางการอิตาลีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 มากถึงกว่า 8,200 คน หรือ 2 เท่าของจำนวนผู้เสียชีวิตในจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของโรคร้ายนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตในแดนมังกรอยู่ที่อย่างน้อย 3,292 คน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า มี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้อิตาลีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก ได้แก่ ประชากร, พฤติกรรมทางสังคม และความสามารถในการตรวจหาผู้ติดเชื้อของอิตาลี

ขณะเดียวกันยังเป็นปัจจัยทำนองเดียวกับสเปนที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 4,300 คน มากที่สุดในโลกรองจากอิตาลี และแซงหน้าจีนไปกว่าพันคน ตัวเลขเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้อัตราเสียชีวิตในประเทศยุโรปสูงขนาดนี้

  • 1. ตอบสนองช้า

“มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างแล้วกว่าที่คนจะตื่นตัวเรื่องไวรัส” อเล็กซานเดอร์ เอ็ดเวิร์ดส ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยรีดดิงของอังกฤษ เผยกับซีเอ็นบีซีเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิตาลี

เอ็ดเวิร์ดส อธิบายว่า ในประเทศยุโรปส่วนใหญ่ ผู้คนต่างคิดว่าการระบาดครั้งนี้เป็นปัญหาของประเทศอื่น และด้วยทัศนคตินี้เอง ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ เช่น อิตาลีและสเปน

ขณะที่ในเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของไวรัส รัฐบาลสั่งปิดเมืองตัดขาดจากโลกภายนอกมาตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. และตอนนี้ อู่ฮั่นยังคงถูกล็อคดาวน์บางส่วนไปจนถึงต้นเดือน เม.ย. เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่เลยช่วงหลายวันที่ผ่านมา

ด้วยความตระหนักถึงปัญหา มาตรการล็อคดาวน์อย่างสุดขั้วของจีนได้ผลลัพธ์เชิงบวก แต่ในขณะนั้น การตัดสินใจบอกประชาชน 11 ล้านคนในอู่ฮั่นให้กักตัวเองอยู่ในบ้านอาจรุนแรงเกินไปสำหรับหลายคน และยังไม่มีหลักประกันว่ามาตรการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ส่วนรัฐบาลอิตาลีกว่าจะออกมาตรการล็อคดาวน์ครั้งแรกก็ล่วงเข้าไปปลายเดือน ก.พ. แล้ว โดยบังคับใช้กับ 11 เมืองในภาคเหนือ และประกาศล็อคดาวน์ทั้งประเทศเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา

“อิตาลีขยับตัวช้าไปหน่อย” เอ็ดเวิร์ดสระบุ

  • 2. ความสามารถตรวจหาผู้ป่วย

ไมเคิล ทิลเดสลีย์ นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์วิกของอังกฤษ บอกกับซีเอ็นบีซีว่า อัตราการเสียชีวิตยังเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วย ที่สำคัญคือ ยิ่งมีคนได้รับการตรวจมากเท่าไหร่ ทางการยิ่งสามารถตอบสนองได้ดีขึ้นเท่านั้น

ในหลายประเทศที่คนจำนวนมากได้รับการตรวจเชื้ออย่างทันท่วงที เช่น จีน มีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่สูงเท่ากับในอิตาลีและสเปน ซึ่งมีเพียงพลเมืองที่แสดงอาการป่วยโควิด-19 เท่านั้นที่ได้รับการตรวจหาไวรัส

อ่านเพิ่มเติม: ยอดผู้เสียชีวิต COVID-19 ‘อิตาลี’ พุ่งแตะ 8,215 ราย สูงสุดในโลก

เอ็ดเวิร์ดส บอกว่า ในจีน คนที่ติดเชื้อไวรัสถูกตรวจพบอย่างรวดเร็วและถูกแยกออกมาให้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแทนการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอิตาลี

  • 3. ประชากรสูงอายุ

กรณีอิตาลี เอ็ดเวิร์ดส บอกว่า มีเรื่อง "ปัจจัยเสี่ยงทวีคูณ" คนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสในประเทศคือกลุ่มสูงอายุ และตัวเสริมความเสี่ยงคือวัฒนธรรมการรวมญาติ

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ระบุว่า อิตาลีมีประชากรสูงอายุมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น กลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีอาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19

“ทุก ๆ วันอาทิตย์ ชาวอิตาลีหนุ่มสาวจะไปหาปู่ย่าตายายของตน พวกเขาหอมแก้ม ไปโบสถ์ หรือทานอาหารร่วมกัน” เอ็ดเวิร์ดสเผย และว่า การปฏิสัมพันธ์ลักษณะนี้กับผู้สูงอายุทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วประเทศ

ส่วนสเปน แม้ว่าไม่ได้มีประชากรสูงอายุมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ไวรัสมรณะก็ส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มผู้สูงอายุเช่นกัน ข้อมูลจากรัฐบาลสเปนพบว่า กลุ่มอายุที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิดมากที่สุดคือ 50-59 ปี, 70-79 ปี และมากกว่า 80 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ สเปนยังมีวัฒนธรรมครอบครัวคล้ายกับอิตาลี ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการพบปะกันระหว่างกลุ่มคนหนุ่มสาวกับกลุ่มคนชรา ยิ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นด้วย

“ส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงนี้คือเรื่องวัฒนธรรม” ทิลเดสลีย์ระบุ และว่า จีนมีสถิติการใช้มาตรการล็อคดาวน์ในระดับเข้มงวดกว่าเมื่อเทียบกับยุโรป

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนบอกว่าความแตกต่างของชนิดยาที่ใช้ในยุโรปเทียบกับจีน อาจมีผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิตจากโควิดด้วย อย่างไรก็ตาม เอ็ดเวิร์ดส มองว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าสรรพคุณยาแผนตะวันออกเทียบกับยาแผนตะวันตก ทำให้เกิดความแตกต่างในกรณีนี้หรือไม่