เปิดมูลเหตุ ‘11บุคลากรทางการแพทย์’ ติดโควิด-19

เปิดมูลเหตุ ‘11บุคลากรทางการแพทย์’ ติดโควิด-19

สธ.เผยบุคลากรทางการแพทย์บางคนไม่ได้ติดจากการดูแลผู้ป่วย ส่วนกรณีผอ.รพ.แห่งหนึ่ง อยู่ระหว่างสอบสวนโรค กักตัวคนสัมผัสใกล้ชิดกว่า 20 ราย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019หรือโควิด-19(COVID-19)ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยใน 52 จังหวัด เป็นคนไทย 88 %ต่างชาติ 12 % กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 จากข้อมูลที่มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คาดว่าจะไปป่วยที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป หากไม่มีมาตรการป้องกันจะมีผู้ป่วยสะสม 25,225 ราย หากทำมาตรการรักษาระยะห่าง( Social Distancing) ได้ 50 %จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และหากทำได้ 80 % จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 ราย 

158528905857

กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน / ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง หอบหืด ภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันรางกายต่ำ เช่น กำลังรับยากดภูมิคุ้มกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายคือ กลุ่มเด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปี

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการสอบสวนโรคกรณีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อสะสม 11 ราย โดยในรายงานระบุว่ามี 9 รายติดจากการดูแลผู้ป่วย และอีก 2 รายซึ่งอยู่ในจ.ตรังและสมุทรปราการไม่ได้ระบุผลการสอบสวนโรค นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ทางการสาธารณสุข ก็เป็นคนทั่วไป ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกด้วย ส่วนที่ติดเชื้อระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก็จำนวนหนึ่ง เกิดจากการที่ไม่ได้ประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงของผู้ป่วย เป็นเหตุให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ใส่ชุดป้องกันตัวอย่างเต็มที่ในกรณีดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 หรือมีอาการหวัด มีน้ำมูก


อีกกลุ่มคือบุคลากรที่ไปติดจากที่ไหนไม่รู้ อาจจะชุมชนหรืออาจะตรงไหนเกี่ยวข้องกับใคร ซึ่งก็มีไม่ได้บอกว่าบุคลากรทางการแพทย์จะติดจากการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด เพียงแต่ในการรายงานจะระบุว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพราะผุ้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก ไม่อยากให้บุคลากรมีการเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่ห้ามไม่ได้คือการที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะไปมีสังคม สังสรรค์ หรือไปมีภารกิจจำเป็นแต่ว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและกลับมาไม่ได้กักตัวเอง 14 วัน และมีผลกระทบต่อผู้ร่วมงานโดยหลังจากที่ตัวเองมีผลยืนยันติดเชื้อ ผู้ร่วมงานจะต้องถูกกักตัว เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องสูญเสียทรัพยากร


ต่อข้อถามแสดงว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า ใช่ 

158528914628


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งผลการสอบสวนโรคเป็นอย่างไร นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า ผลการสอบสวนโรคในรายละเอียดว่าผู้ป่วยติดจากไหน กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมว่ามีการเชื่อมโยงกับใคร ผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นใครบ้าง คาดว่าในเร็วๆนี้จะแถลงรายละเอียดได้

นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงกรณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการมีการติดโรคโควิด-19 ว่า จากการที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวติดโรคนั้น ทำให้มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อำนวยการคนดังกล่าวประมาณ 22 ราย ขณะนี้ทุกรายได้รับการตรวจเชื้อเบื้องต้นและยังไม่พบว่ามีรายใดติดเชื้อ แต่ทุกรายก็ต้องทำการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ในส่วนการสอบสวนโรคนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากแหล่งใด โดยผู้ที่ลงมาสอบสวนโรคคือกรมควบคุมโรค ทั้งนี้ภายหลังจากทราบว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลติดโรคทางโรงพยาบาลก็ได้มีการทำความสะอาดโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563 ระบุว่า มีผู้ป่วยโควิด-19ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวม 11 ราย มีการระบุสาเหตุ 9 ราย ไม่ระบุสาเหตุ 2 รายในจ.ตรังและสมุทรปราการ แยกเป็น 

1.รายที่ 34 หญิงไทย อายุ 35 ปี จ.สมุทรปราการ ยืนยันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยยืนยัน ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
2.รายที่765 หญิงไทย อายุ 35 ปี จ.ภูเก็ต ยืนยันวันที่ 24 มีนาคม 2563 ติดเชื้อจากการไม่บอกประวัติ ของผู้ป่วย
3.รายที่ 766 หญิงไทย อายุ 33 ปี จ.ยะลา ยืนยันวันที่ 24 มีนาคม 2563 ติดเชื้อจากการไม่บอกประวัติ ของผู้ป่วย
4.รายที่ 767 หญิงไทย อายุ 33 ปี จ.บุรีรัมย์ ยืนยันวันที่ 24 มีนาคม 2563 ติดเชื้อจากการไม่บอกประวัติ ของผู้ป่วย
5.รายที่768 หญิงไทย อายุ 38 ปี จ.นครปฐม ยืนยันวันที่ 24 มีนาคม 2563 ติดเชื้อจากการไม่บอกประวัติ ของผู้ป่วย


6.รายที่866 หญิงไทย อายุ 26 ปี จ.ตรัง ยืนยันวันที่ 25มีนาคม 2563 ไม่ระบุสาเหตุ
7.รายที่ 867 หญิงไทย ไม่ระบุอายุ จ.สมุทรปราการ ยืนยันวันที่ 25มีนาคม 2563 ไม่ระบุสาเหตุ
8.รายที่953 ชายไทย อายุ 49 ปี จ.มุกดาหาร ยืนยันวันที่ 26มีนาคม 2563 สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19
9.รายที่ 979 ชายไทย อายุ 53 ปี จ.สมุทรปราการ ยืนยันวันที่ 26มีนาคม 2563 ติดจากผู้ป่วย
10.รายที่ 980 หญิงไทย อายุ 38 ปี จ.มุกดาหาร ยืนยันวันที่ 26มีนาคม 2563 สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ติดจากผู้ป่วย
11.รายที่ 981 หญิงไทย อายุ 32 ปี กรุงเทพฯ ยืนยันวันที่ 26มีนาคม 2563 รักษาผู้ป่วยยืนยัน ติดจากผู้ป่วย

     การที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากต่อการที่จะป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19นั้น เนื่องจากมี 1 คนติด จะทำให้บุคลากรอีกจำนวนหนึ่งต้องถูกกักตัว14วัน ส่งผลกระทบต่อกำลังคนในการให้การดูแล รักษาผู้ป่วย

     ดังที่รพ.บันนังสตา ที่มีรายงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ว่าบุคลากรติดเชื้อ 3 ราย จากการที่ผู้ป่วยปกปิดประวัติเสี่ยง จนทำให้เจ้าหน้าที่ติดเชือและต้องเฝ้าระวังกักตัวอีก 33 ราย กระทั่ง รพ.ต้องงดการให้บริการในบางส่วน

      ประชาชนจะต้องตระหนักให้มากถึงการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการไม่ปกปิดประวัติเสี่ยงและอาการป่วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันตัวเองได้ 

     ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ ก็ควรยึดปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการในการควบคุม ป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่าเป็นผู้ฝ่าฝืนมาตรการจนทำให้ติดโรค อย่างเช่น ไม่ควรไปต่างประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งที่มีหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่าให้งดเดินทาง หรือการจัดเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงอำลาตำแหน่งหรือแสดงความยินดีกับตำแหน่งผู้อำนวยการใหม่ เป็นต้น