'ยาคลอโรควิน' ความหวังใหม่รักษา 'โควิด-19'

'ยาคลอโรควิน' ความหวังใหม่รักษา 'โควิด-19'

การกล่าวอ้างสรรพคุณยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรียว่าอาจจะช่วยรักษาโรคโควิด-19 ได้ ทำให้ยาตัวนี้กลายเป็นความหวังใหม่ในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และทำให้หลายประเทศเริ่มกักตุนยานี้กันครั้งใหญ่

นอกจากนี้ กระแสใช้ยานี้ ยังนำไปสู่การใช้อย่างผิด ๆ และเกินขนาด จนกระทั่งเกิดการเสียชีวิต ดังเช่นในผู้ป่วยรายหนึ่งในสหรัฐเอง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกขานยาคลอโรควินและไฮดร็อกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ว่า เป็น “ตัวพลิกเกมส์” ระหว่างการแถลงข่าวเมื่ออาทิตย์ (22 มี.ค.) ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป และแม้กระทั่งอีกหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัลจีเรียหรืออินโดนีเซีย ต่างรีบกักตุนยาดังกล่าวทันที

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรครูมาตอยด์ต่างพากันบ่นถึงการที่ยาขาดตลาดไปตามๆกัน หนึ่งในนั้นคือ“สเตซี่ ทอเรส” นักวิชาการของสหรัฐซึ่งเขียนบทความจาก ประสบการณ์ตรงลงหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เรียกร้องขอให้ผู้คนอย่ากักตุนยาดังกล่าว

แม้ยาคลอโรควินจะเป็นหนึ่งในตัวยาที่กำลังได้รับการศึกษาไปพร้อมๆกับยาต้านโรคเอดส์และไข้หวัดอื่นๆ ที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโคโรน่า 2019 แต่ประสิทธิผลของตัวยาจริง ๆ ยังไม่ได้รับการยืนยันในการทดลองในคน

ยาคลอโรควิน ได้รับความสนใจในกลุ่มนักวิจัยในช่วงที่เกิดโรคซาร์สระบาด ในช่วงปี 2545-2546 และในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยทางระบาดวิทยา Virology Journal ในปี 2548 พบว่า คลอโรควินจะไปช่วยยับยั้งไวรัสซาร์สในเซลล์หลังเกิดการติดเชื้อ และก่อนแพร่กระจาย ส่งผลให้เกิดการลดจำนวนของไวรัส โดยเฉพาะในรายที่อาการรุนแรง

หลักการคือ ยาที่ช่วยชะลอหรือฆ่าไวรัสได้อย่างคลอโรควินถูกเชื่อว่าจะช่วยรักษาชีวิตของผู้คนได้ โดยเฉพาะในรายที่อาการรุนแรง หรือช่วยป้องกันกลุ่มแพทย์และพยาบาลได้ ทำให้ยาตัวนี้ได้รับความสนใจอย่างจริงจังมากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นหนึ่งในกลุ่มยารักษาไวรัสโคโรน่า 2019 ที่จะศึกษาเปรียบเทียบผลกับยาอีก 3 ตัวในการศึกษาระดับโลกชื่อ "โซลิดาริตี" (Solidarity)

ความสนใจดังกล่าว ถูกจุดประกายจากงานวิจัยของนักวิจัยชาวจีนที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioScience Trends ในปีนี้ ที่ระบุว่า ยามีศักยภาพสูงในการช่วยรักษาโรคปอดอักเสบที่เกิดจากไวรัสโคโรน่า 2019 แต่ยังไม่ได้มีการแชร์ข้อมูลไปยัง WHO จนถึงเวลานี้

ในอีกการศึกษาหนึ่งจากประเทศฝรั่งเศส ที่มีการทดลองใช้ยากับผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็ให้ผลในเชิงบวกเช่นเดียวกัน แต่แม้จะมีความสนใจในการใช้ยาช่วยรักษาไวรัสโคโรน่า 2019 แต่การทดลองใช้ยาดังกล่าวกับโรคอื่นเช่นไข้เลือดออกก็ไม่ได้ผลอย่างที่คิด

“นักวิจัยพยายามใช้ยาตัวนี้กับไวรัสตัวแล้วตัวเล่า แต่ในการทดลองในคนแล้ว ยังไม่ได้ผล ปริมาณยาที่ต้องใช้ยังสูงเกินไป” ซูซาน เฮโรลด์ นักวิจัยการติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยกีสเซนกล่าวกับนิตยสารไซอึนซ์

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวที่มีต่อยาตัวนี้ ก็ส่งผลให้หลายประเทศพยายามที่จะตุนยาไว้ ทำให้อีกหลายประเทศต้องออกมาปรามว่า ถ้าทำอย่างนั้นอาจทำให้คนที่จำเป็นขาดแคลนยาได้ อย่างเช่นกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคมาลาเรียหรือโรครูมาตอยด์ ในหลายประเทศรวมทั้งอินโดนีเซีย

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวว่า เขาได้สั่งนำเข้ายาคลอโรควินและยาต้านโรคหวัด เนื่องจากยานี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยรักษาไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ในหลายประเทศ แม้ยังไม่มีใครค้นพบยาต้านไวรัสตัวนี้โดยตรงก็ตาม