'อนุทิน'เผยทยอยส่งผู้ป่วยโควิด-19อาการน้อยดูแลนอกรพ.

'อนุทิน'เผยทยอยส่งผู้ป่วยโควิด-19อาการน้อยดูแลนอกรพ.

'อนุทิน'เผยสธ.ทยอยส่งผู้ป่วยโควิด-19อาการไม่รุนแรงดูแลนอกรพ. หลังประเมิน2-7วันไม่พบปอดผิดปกติ อาการเหมือนหวัด เคลียร์เตียงรองรับผู้ป่วยรุนแรง รมว.สธ.เชื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำคนไทยอยู่เป็นที่ ช่วยสถานการณ์ดีขึ้น

        เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 มีนาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์CLEAN Together :คนไทยรวมพลังป้องกันโรค” เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19ว่า องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)เปิดเผยการศึกษาในการดำเนินการมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม(Social Distancing)ที่จะส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วย โดยระบุว่าหากประชาชนในประเทศร่วมมือทำเพียง 70 % ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลง เพราะจะมีตัวเลขผู้ป่วยพุ่งขึ้นจากการที่ไม่ได้ทำตามมาตรการอีก 30 % แต่หากคนในประเทศไทย 80-90 % ร่วมกันรักษาระยะห่างจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลงทันที


เชื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วยคลี่คลาย
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้เกิดการอยู่เป็นที่ของประชาชน ทำให้อยู่ในที่ที่จำกัด ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่เกิดการรวมกลุ่ม ไม่ให้มีการสันทนาการสังสรรค์ต่างๆ ถ้าทำได้เช่นนี้เป็นเวลา 14 วัน สถานการณ์ก็จะคลี่คลายดีขึ้น จากการที่คนติดเชื้อมีจำกัด สามารถค้นหาได้เจอและนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ นี่คือสิ่งที่หวัง ประชาชนต้องการกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 


“กฎหมายเฉพาะออกมาเพื่อดำเนินการกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีจำนวนหนึ่งที่มีอยู่จำนวนน้อย แต่ก่อความเดือดร้อน ด้วยการไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการในการป้องกัน ควบคุมโรค แต่เมื่อมีกฎหมายนี้แล้ว หากประชาชนพบผู้ที่ฝ่าฝืนก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการได้”นายอนุทินกล่าว 

ส่งผู้ป่วยน้อยดูแลนอกรพ.
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ราว 80 % มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ หากเป็นในต่างประเทศจะให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ดูแลตัวเองที่บ้าน แต่ในส่วนของประเทศไทย จากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีแผนเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประสานทั้งโรงพยาบาลเอกชน หอพัก และโรงแรมต่างๆ จึงเริ่มมีการทยอยส่งผู้ป่วยที่ไม่สำแดงอาการ โอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก ซึ่งผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วไปดูแล เฝ้าสังเกตอาการยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาล เพื่อเตรียมเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลไว้รองรับสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ารับไว้รักษาในโรงพยาบาลอย่างเพียงพอ
“ถ้าประชาชนให้ความร่วมมือ

ในการรักษาระยะห่าง ต่างคนต่างอยู่ ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก และเวลาที่ทอดยาวออกไปนี้ ประชาชนก็จะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น การติดเชื้อก็จะแสดงอาการน้อยลงๆ เหลือแต่คนต้องการรักษาในโรงพยาบาลจริงๆ ทำให้บุคลากร ยา เวชภันฑ์ก็จะเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย นี่คือหลักของการต่อสู้โรคระบาดทุกโรค”นายอนุทินกล่าว 


ย้ายผู้ป่วยแล้วกว่า 10 ราย
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะเริ่มมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หลังจากที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2- 7 วันแล้ว ไม่มีอาการรุนแรง ปอดไม่มีความผิดปกติ ไม่มีปอดอักเสบ มีอาการเหมือนไข้หวัด ไปดูแลเฝ้าระวังอาการที่หอพัก หรือโรงแรมที่มีการประสานงานไว้ต่อให้ครบ 14 วัน และเมื่อผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆแล้วก็จะให้กลับบ้าน ซึ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเหมือนไข้หวัดก็จะเป็นการดูแลตามอาการ เช่น ไอก็ให้ยาแก้ไอ เป็นต้น ขณะนี้มีการย้ายผู้ป่วยไปงแล้วประมาณ 10 กว่าราย และจะทยอยออกไป โดยในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์จะย้ายไปยังโรงแรมแห่งหนึ่ง และที่หอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รองรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงจากโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์

ทั้งนี้สถานที่ที่มีการย้ายผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงนั้น มีการเตรียมสถานการที่อย่างได้มาตรการ เช่น ในห้องพักต้องมีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้เอง มีเครื่องวัดระดับออกซิเจน ซึ่งจะบ่งบอกว่าปอดยังทำงานดีหรือไม่ อินเตอร์เน็ตดี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวิดีคอลกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา โดยจะมีพยาบาลประจำ 1 คน ต่อผู้ป่วย 100 คน ส่วนแพทย์จะออกตรวจตามรอบ แต่สามารถติดตามตัวได้ทันที มีอุปกรณ์การแพทย์สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

“เหตุที่ต้องย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไปอยู่ที่หอพักหรือโรงแรมนั้น เพื่อต้องการทำให้เตียงของโรงพยาบาลว่างเพียงพอรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการกลางๆ และผู้ป่วยอาการหนักจริงๆ ทั้งนี้สำหรับตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นวันละ 100 รายนั้น ยังสามารถบริหารจัดการเรื่องเตียงได้เพียงพอ ตอนนี้เริ่มพบคนไข้ออกไปตามต่างจังหวัด ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ว่าอาจจะต้องตั้งโคฮอตวอร์ด สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งอาจจะตั้งในโรงพยาบาลชุมชนหรือไม่”นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒฺ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการ 82.2% อีก 17.8%หรือ 1 ใน 5 ไม่มีอาการ ขณะที่ภาพรวมอาการผู้ป่วยทั่วโลก พบว่า มากกว่า 80 % มีอาการไข้หวัดธรรมดา มีอาการไม่รุนแรง ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ อีก 7-15 %ปอดอักเสบรุนแรงน้อยจะเริ่มได้รับยาต้านไวรัส ในประเทศไทยพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประมาณ 9 % และปอดอักเสบรุนแรง 3-5 % มีอัตราเสียชีวิต 4 % ส่วนของประเทศไทยอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.4 % 

        “จากข้อมูลผู้ป่วยในประเทศไทยคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปอดอักเสบ คือ คนที่รู้แล้วว่าติดเชื้อโคโรนาไวรัส และเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ภาวะอ้วน มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคถุงลงโป่งพอง โรคหัวใจวาย โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคเบาหวาน ส่วนคนที่มีอาการน้อยเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้มีกลุ่มโรคเหล่านี้  สามารถรักษาด้วยวิธีการทั่วไปที่รักษาหวัด คือ ไอก็กินน้ำ ยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็กินยาลดน้ำมูก พักผ่อนมากๆและใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 14 วัน ”แพทย์หญิงปฐมพรกล่าว