นวัตกรรมช่วยชีวิต ป้องกัน ควบคุมโควิด-19

อุดมศึกษา-โรงพยาบาล ดึงนวัตกรรม เทคโนโลยีช่วยป้องกัน ควบคุมโควิด-19 มจธ.จับมือเอกชนพัฒนา FACO : หุ่นยนต์สู้โควิด-19 ขณะที่จิตเวชโคราช ขานรับโซเชียล ดิสแทนซิ่ง “จ่ายยาแบบไดรฟ -ทรู/ส่งไปรษณีย์” ส่วนรพ.ในเครือบีดีเอ็มเอส นำ Tytocare นวัตกรรมตรวจสุขภาพ
ในสถานการณ์ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่โควิด-19 หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดหาระบบต่างๆ ที่จะมารับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่นี้
มจธ.จับมือเอกชนพัฒนา FACO : หุ่นยนต์สู้โควิด-19
บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนาระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “FIBO AGAINST COVID-19: FACO”
โดยร่วมกันพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์มการควบคุมเพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในความร่วมมือ บริษัทได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ประกอบด้วย
1. บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้ทุนสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มโดยสนับสนุนทั้งในส่วนของงบประมาณและอุปกรณ์ รวม 3 ล้านบาท และ 1 ล้าน ตามลำดับ
2. บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริจาคอุปกรณ์ Video Conference/High Definition Camera
3. บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด ส่งทีมนักออกแบบของบริษัทเข้าร่วมในโครงการ FACO โดยร่วมกับทีมวิศวกรและนักวิจัยฟีโบ้ พัฒนาระบบฯ ในฐานะบริษัทผู้มีความชำนาญในแพลตฟอร์ม เพื่อต่อยอดไปเป็น Medical Service Platform
ระบบหุ่นยนต์ FACO ชุดแรก มีแผนนำไปใช้ในโรงพยาบาลแห่งแรก เพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในราวต้นเดือนเมษายน 2563 นี้
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ยังได้รับความกรุณาจากผู้มีจิตกุศลให้ทุน (at cost) ในการสร้างระบบหุ่นยนต์ขึ้นมาอีกสองระบบ เพื่อบริจาคให้แก่โรงพยาบาลที่ต้องการภายในกลางเดือนเมษายน 2563 หลังจากนั้น ฟีโบ้จะมอบ Engineering Drawings แก่ 20 บริษัทผู้ผลิต ภายใต้สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) เพื่อผลิตออกมาในจำนวนมาก (Mass Production) ในราคาเท่าทุน ให้ทันต่อความต้องการของโรงพยาบาล
จิตเวชโคราช “จ่ายยาแบบไดรฟ -ทรู/ส่งไปรษณีย์”
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รพ.จิตเวชฯ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเขตสุขภาพที่ 9 คือจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้เป็นไปในแนวเดียวกัน
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า สำหรับการขานรับมาตรการ โซเชียล ดิสแทนซิ่ง ( Social distancing) หรือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อของโควิด-19 และหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ผลโดยเร็ว คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคของรพ.จิตเวชฯได้ปรับแผนบริการลดความแออัดที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวชใช้บริการเฉลี่ยวันละ 320 คน
โดยจัดผู้ป่วยพร้อมญาติ 1 คน เข้ารอตรวจรอบละ 20 คน และผ่านจุดคัดกรองไข้ทุกคน ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่มารับยาเดิมตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีวันละประมาณ 110 คน ได้ปรับเวลาให้บริการเร็วขึ้นกว่าเดิมคือเริ่มตั้งแต่ 8.00 น.เป็นต้นไป
ขณะนี้ดำเนินการแล้วและได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างดี นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า บริการอีก 2 รูปแบบใหม่ ที่รพ.จิตเวชฯจะนำมาใช้ในการลดความแออัดผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก และลดการเดินทางของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าและญาติให้น้อยที่สุดหรือให้อยู่ใกล้บ้านที่สุดในช่วง 4 เดือนนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2563 เป็นบริการเพิ่มเติมจากโครงการจ่ายยาจิตเวชที่ร้านยาใกล้บ้านซึ่งขณะนี้มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 10 แห่งซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา
รูปแบบแรกคือการจ่ายยาให้ผู้ป่วยแบบไดรฟ-ทรู ( Drive- Thru ) ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และมีอาการทางจิตเป็นปกติ โดยจะใช้ระบบติดตามอาการของผู้ป่วยทางโทรศัพท์ตามเกณฑ์มาตรฐาน จากนั้นเภสัชกรจะจัดยาให้กินที่บ้านนานขึ้นเป็นเวลา 3-6 สัปดาห์ และนัดให้ผู้ป่วยไปรับยาได้ที่ร้านขายยา
รูปแบบที่ 2 คือการจ่ายยาจิตเวชทางไปรษณีย์ ใช้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาทุกพื้นที่ โดยผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับยาทางไปรษณีย์ จะต้องได้รับการประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยในรูปแบบแอพพลิเคชั่น ซึ่งใช้ง่าย ใช้ได้หลายกลุ่มโรค เช่น โรคจิตเภทซึ่งพบได้บ่อยที่สุด รวมทั้งโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น
รายงานผลแบบปัจจุบันทันที หากผู้ป่วยมีอาการทั่วไปปกติดี ไม่มีปัญหาที่เป็นอันตรายใดๆ เภสัชกรจะดำเนินการจัดยาและส่งไปที่บ้านของผู้ป่วยโดยตรงทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยและญาติที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 0-4423-3999 ในวันและเวลาราชการ
รพ.ในเครือบีดีเอ็มเอส นำ Tytocare นวัตกรรมตรวจสุขภาพ
โรงพยาบาลในเครือบีดีเอ็มเอส (BDMS) นำร่องโดย โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลกรุงเทพ นำนวัตกรรมTytocareอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ตัวช่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Teleconsultation) ช่วยเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยโดยลดการสัมผัสติดต่อใกล้ชิด โดยเฉพาะในระหว่างรอผลตรวจเชื้อขณะพักอยู่โรงพยาบาลของการตรวจผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค
ลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดซึ่ง Tytocare เป็นการรวมชุดอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ในรูปแบบที่พกพาง่าย เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ โดยเทอโมมิเตอร์ชนิดอินฟาเรด ตรวจปอดและหัวใจ ด้วยระบบการฟังเสียงและส่งข้อมูลเสียง
รวมไปถึงหู ช่องคอและผิวหนัง ด้วยระบบรูปภาพและวิดีโอเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยผ่านระบบออนไลน์ ออกแบบให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้เองอุปกรณ์Tytocare ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ของประเทศไทยแล้ว
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021
"Weekly Oil" report 18 January 2021