แพร่ เตรียมสถานที่กักกัน-คาดรองรับได้ 300 คน

แพร่ เตรียมสถานที่กักกัน-คาดรองรับได้ 300 คน

แพร่ เร่งหารือภาคเอกชนเตรียมสถานที่กักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย เผยล่าสุดมี 250 ห้อง และ รพ.สนามของแต่ละอำเภออีก 8 แห่ง คาดรองรับได้ประมาณ 300 คน

นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มีนโยบายเตรียมสถานที่กักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย เพื่อรองรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 จากผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยง หรือจังหวัด หรือพื้นที่เสี่ยงในประเทศไทยเป็นเวลา 14 วัน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กรณีตรวจสอบบ้านพักของผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ผ่านมาตรฐานของสถานที่กักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย จึงต้องมีสถานที่ที่จังหวัดเตรียมรองรับไว้ให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว แม้ว่าขณะนี้ทางราชการได้เตรียมความพร้อม สถานที่กักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัยในระดับจังหวัดและระดับอำเภอไว้ครบทั้ง 8 อำเภอแล้วก็ตาม

หลังจากที่มีการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หารือแนวทางการจัดหาสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัยโดยในเบื้องต้นภาคเอกชน โดยกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแพร่และผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมยินดีที่จะใช้โรงแรมของตนเองเป็นสถานที่กักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย โดยขอให้จังหวัดแพร่ดำเนินการทำเอ็มโอยู ร่วมระหว่างจังหวัดแพร่กับผู้ประกอบการโรงแรมอย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จังหวัดแพร่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอสำรวจสถานที่ในพื้นที่ของตนเองเพื่อใช้เป็นสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัยอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่งครบ ทุก 8 อำเภอแล้ว เพื่อรองรับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (25 มี.ค.) นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วย นายแพทย์ขจร วินัยพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ นายอิสรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเด่นชัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ตรวจสอบ และประเมิน สถานที่ โดยมอบหมายให้ทางสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ประเมิน ว่าสามารถอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้หรือไม่ โดยให้ดำเนินการและคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวก อาทิ ด้านไฟฟ้าส่องสว่าง ด้านสุขอนามัย เนื่องจากประชาชนต้องอยู่อาศัยเป็นเวลา 14 วัน และสร้างความเข้าใจต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวให้เข้าใจ และถือปฏิบัติตัวตามมาตรฐานควบคุมการแพร่ระบาดของโรค อย่างเคร่งครัดและมีความเข้าใจเต็มใจถึงกระบวนการทำงานของภาครัฐที่จะช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถานที่กักกันในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัยในระดับอำเภอสามารถปรับเป็นโรงพยาบาลสนามได้หากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดแพร่เพิ่มขึ้น

นางกานต์เปรมปรีด์ กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของจังหวัดแพร่ ได้มาดูพื้นที่ที่ได้เตรียมไว้สำหรับคอยเฝ้าระวังกลุ่มที่มาจากกรุงเทพฯ ตอนนี้ในด้านของจังหวัดแพร่ได้มีการจัดเตรียมไว้จำนวน 6 ที่ เป็นของเด่นชัย ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเป็นของวิทยาลัยการเกษตรจังหวัดแพร่และมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-เฉลิมพระเกียรติ ที่ วิทยาลัยการเกษตร เราได้ ทั้งหมด 92 ห้อง ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ฯ ได้ 120 ห้อง และจะมีที่อำเภอร้องกวาง อีก 15 ที่ตรงจุดนี้ อีก 23 ห้อง รวมแล้วก็ประมาณ 250 ห้อง และตอนนี้ทางจังหวัดแพร่จะมี รพ.สนามของแต่ละอำเภออีก 8 ที่ ซึ่งตอนนี้ก็คาดว่าประมาณ 300 กว่าคนที่เราได้จัดเตรียมไว้ซึ่งเรามีความพร้อมที่จะยกระดับในสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็น รพ.สนาม

สำหรับจังหวัดแพร่ จะแบ่งเป็นการกัก 2 แบบ คือ ทางด้านสาธารณสุขจะดูที่บ้านหากมีความเหมาะสมที่สามารถกักตัวเองได้ ก็จะให้อยู่บ้านและจะมีเจ้าหน้าที่ อสม. ผู้นำชุมชน โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าชุดปฎิบัติงาน ส่วนหากบางท่านไม่มีสถานที่ ทางเราก็จะนำเข้ามาในพื้นที่เฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขคือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยให้ประชาชนงดการเดินทางออกนอกบ้าน และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง เมื่อจับสิ่งของนอกบ้าน งดงานเลี้ยงสังสรรค์งดการพบปะพูดคุยกับ กลุ่มผู้คนที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ งดรับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19