เปิดข้อมูลผู้ป่วย 'โควิด-19 'ไทย พบ 1 ใน 5 ไม่มีอาการ

เปิดข้อมูลผู้ป่วย 'โควิด-19 'ไทย พบ 1 ใน 5 ไม่มีอาการ

สธ.เผยผู้ป่วยโควิด-19 ไทย 1 ใน 5 ไม่มีอาการ ปอดอักเสบรุนแรงน้อย 9% อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.4% ผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 107 ราย แนะ 3 กลุ่มเสี่ยงงดออกจากบ้านเด็ดขาด บุคลากรทางการแพทย์เริ่มติดมากขึ้น ขอประชาชนอย่าปกปิดประวัติเสี่ยง หวั่นกระทบระบบสาธารณสุข

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 107 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 27 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย กลุ่มสนามมวย 4 ราย เป็นอาชีพพนักงานขับรถ บขส. และรับจ้าง อยู่ที่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร , กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย เป็นคนที่ท่องเที่ยวในสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี ประชาสัมพันธ์ เจ้าของสถานบันเทิง , กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยรายงานมาแล้ว 14 ราย รับจ้าง ค้าขาย พนักงานบริษัท นักศึกษา คนขับรถแท็กซี่ ผู้ต้องขังและ ตำรวจ กระจายอยู่ที่เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ภูเก็ต และกรุงเทพฯ และกลุ่มร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 4 ราย คือ สงขลา ยะลา


กลุ่มที่ 2 : ผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย คือ กลุ่มเดินทางจากต่างประเทศ 6 ราย เป็นชาวต่างชาติ คือ อังกฤษ ฟินแลนด์ เยอรมัน และอเมริกัน , กลุ่มทำงานหรืออาศัยที่แออัดใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องคนต่างชาติ 5 ราย เป็นพนักงานบริษัท พนักงานร้านนวด แคชเชียร์ เจ้าหน้าที่สนามบิน , กลุ่มแพทย์ 2 ราย เป็นแพทย์พี่เลี้ยงทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล มีอาการเล็กน้อย ยังคงทำงานอยู่ ทั้งเข้าผ่าตัด ไปทานข้าวกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำให้กลุ่มคนที่สัมผัสมีบุคลากรทางการแพทย์ห้องผ่าตัด 15 คน หมอร่วมทำงานด้วยใกล้ชิด 10 คน มีผู้เกี่ยวข้องอีก 25 คน ต้องให้พักงาน ดูแลที่บ้าน


กลุ่มที่ 3 : ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 67 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 13 ราย ขณะประเทศไทยมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 70 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 860 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยสะสม 934 ราย 

ขณะนี้ประชาชนที่ทำงานในกทม.และปริมณฑล ได้ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา มีโอกาสนำโรคไปแพร่กระจายให้ผู้ใกล้ชิด กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข สำรวจผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว แยกตนเองอยู่บ้าน 14 วัน ประชาสัมพันธ์มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) งดกิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ หากพบมีคนป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 

“กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัวมีโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง จนอาจเสียชีวิตได้ จึงควรงดออกจากบ้าน เพื่อลดโอกาสรับเชื้อ ส่วนคนในบ้านที่ออกไปทำงานมีโอกาสไปรับเชื้อจากนอกบ้าน ให้เว้นระยะห่างในครอบครัวด้วย”นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน หากป่วย มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าปกปิดข้อมูล เพื่อจะได้วินิจฉัย รักษาได้ทันท่วงที ขอให้ทุกคนคำนึงถึงความปลอดภัยของแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข อย่าปกปิดข้อมูลประวัติเสี่ยง เพราะจะส่งผลต่อการวินิจฉัยและรักษาโรค ที่สำคัญเกิดความเสี่ยงต่อบุคลากร หากติดเชื้อจากการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วย จะส่งผลกระทบต่อการจัดบริการ ขาดผู้รักษาพยาบาลผู้ป่วย จะเกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก

  • ผู้ป่วยในไทย 17.8% ไม่มีอาการ

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2563 พบว่าเป็นเพศชาย 62.7 % เพศหญิง 37.3% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 347 ราย พื้นที่ปริมณฑล 93 ราย เกี่ยวข้องสนามมวย ภาคใต้ตอนล่าง 46 ราย และอื่นๆ 174 ราย โดยเป็นผู้ป่วยมีอาการ 82.2% อีก 17.8% หรือ 1 ใน 5 ไม่มีอาการ 

เมื่อจำแนกตามความเสี่ยงมี 12 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้ป่วยที่เป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้า 146 ราย คิดเป็น 25%

2.เกี่ยวข้องกับสนามมวย 143 ราย 24.49 %

3.ผับ บาร์ 62 ราย 10.62 %

4.คนไทยมาจากพื้นที่เสี่ยง 58 ราย 9.93 %

5.อาชีพเสี่ยง 54 ราย

6.ชาวต่างชาติจากพื้นที่เสี่ยง 48 ราย

7.งานบุญในประเทศมาเลเซีย 30 ราย

8.ระบุไม่ได้ 25 ราย

9.สัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 11 ราย

10.บุคลากรทางการแพทย์ 6 ราย

11.มาจากพื้นที่เสี่ยง 1 ราย และ

12.ไปสถานที่แออัด เช่น งานแฟร์ 1 ราย 

 

  • ไทยอัตราเสียชีวิต 0.4%

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒฺ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีความรู้สึกว่าโรคโควิด-19เป็นเรื่องที่น่ากลัว ซึ่งคนที่มีอาการ จากภาพรวมอาการผู้ป่วยทั่วโลก พบว่า มากกว่า 80 % มีอาการไข้หวัดธรรมดา มีอาการไม่รุนแรง ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ อีก 7-15 %ปอดอักเสบรุนแรงน้อยจะเริ่มได้รับยาต้านไวรัส ในประเทศไทยพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 9 % และปอดอักเสบรุนแรง 3-5 % มีอัตราเสียชีวิต 4 % ส่วนของประเทศไทยอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.4 %

“จากข้อมูลผู้ป่วยในประเทศไทยคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปอดอักเสบ คือ คนที่รู้แล้วว่าติดเชื้อโคโรนาไวรัส และเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ภาวะอ้วน มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคถุงลงโป่งพอง โรคหัวใจวาย โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคเบาหวาน ส่วนคนที่มีอาการน้อยเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้มีกลุ่มโรคเหล่านี้ สามารถรักษาด้วยวิธีการทั่วไปที่รักษาหวัด คือ ไอก็กินน้ำ ยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็กินยาลดน้ำมูก พักผ่อนมากๆและใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 14 วัน” แพทย์หญิงปฐมพรกล่าว

 

  • งดเยี่ยมผู้ต้องขัง

ด้านนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อมีความเป็นไปได้ที่จะติดจากบุคคลที่ไปเยี่ยม ในระยะนี้จึงแนะนำให้งดการไปเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากคนที่ไปเยี่ยมอาจจะติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ ทุกคนจะต้องเข้าใจว่าแม้จะคิดถึง ต้องการที่จะไปเยี่ยมบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ในระยะนี้การแสดงความห่วงใยต่อคนที่รัก จะต้องแสดงความห่วงใยด้วยการอยู่ห่างๆจากกัน .

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมได้ร่วมมือกรมราชทัณฑ์ในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มผู้ต้องขัง ตั้งแต่การคัดกรองผู้ที่เข้าเยี่ยม ไม่ให้มีการเยี่ยมในลักษณะที่มีการสัมผัสตัวกัน ส่วนผู้ต้องขังรายใหม่จะต้องแยกขังกับรายเก่าจนครบ 14 วันจนแน่ใจแล้วว่าผู้ต้องขังใหม่ไม่มีอาการป่วย จึงจะนำเข้าสู่เรือนจำ รวมถึง การคัดกรองเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วย เพราะอาจนำโรคเข้าไป