เปิด ‘ยา 4 ขนาน’ ที่ WHO ใช้ทดลองต้านโควิด-19

เปิด ‘ยา 4 ขนาน’ ที่ WHO ใช้ทดลองต้านโควิด-19

แม้การพัฒนายาชนิดใหม่ต้องใช้เวลาหลายปี แต่นักวิทยาศาสตร์หลายประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังแข่งกับเวลาในการปรับจุดประสงค์การใช้ยาที่มีอยู่แล้วหรือนำมาทดลองซ้ำ เพื่อพยายามผลิตตัวยาต้านเชื้อไวรัสมาต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่ลุกลามทั่วโลก

เมื่อไม่นานนี้ WHO เริ่มการทดลองระดับโลกที่ใช้ชื่อว่า “โซลิดาริตี” (Solidarity) กับตัวยา 4 ขนานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1. เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าแล้วให้ใช้รักษาโรคอีโบลา

2. ยาสูตรผสมที่ใช้ต้านไวรัสเอชไอวีระหว่างโลปินาเวียร์ (lopinavir) กับริโทนาเวียร์ (ritonavir)

3. ยาสูตรผสมระหว่างโลปินาเวียร์กับริโทนาเวียร์ที่เพิ่มอินเตอเฟอรอนเบต้า

และ 4. ยาคลอโรควิน (chloroquine) ที่ใช้ต้านโรคมาลาเรีย

ยาเรมเดซิเวียร์ที่พัฒนาโดยบริษัทกิเลียด ไซแอนซ์ (Gilead Sciences) ได้รับการยกย่องว่ามีหวังรักษาโควิด-19 ได้ และกำลังมีการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่อยู่ 5 การทดลอง ซึ่งจะทราบผล 2 การทดลองได้ในต้นเดือน เม.ย.

158505184129
- เรมเดซิเวียร์ -

ยาดังกล่าวถูกใช้ครั้งแรกกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักในจีนแผ่นดินใหญ่ราวเดือน ก.พ. จากนั้นขยายไปอีกหลายประเทศ และทำให้ความต้องการใช้ยาชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นจนผู้ผลิตแจ้งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะระงับการจ่ายยาตัวนี้ให้แก่ผู้ป่วยใหม่เป็นการชั่วคราว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) เผยว่า ยาเรมเดซิเวียร์ที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนานนี้มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง และสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ WHO เตือนว่า ผลการทดลองรักษาอีโบลาที่ผ่านมาพบว่า อาจมีผลข้างเคียงทำให้ตับเป็นพิษได้

ส่วน ยาคลอโรควิน ได้รับความสนใจในสหรัฐ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อวดอ้างเกี่ยวกับยารักษาโรคมาลาเรีย 2 ชนิด ได้แก่ ไฮดร็อกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) และคลอโรควิน สามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้

สอดคล้องกับที่คณะนักวิจัยในสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนเผยเมื่อเดือน ก.พ. ว่า ยาคลอโรควินสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส Sars-CoV-2 ซึ่งเป็นชื่อทางการของไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 เมื่อทดลองกับเซลล์มนุษย์ในห้องทดลอง

158505200466
- คลอโรควิน -

นพ.จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจจีนบอกว่า ยาคลอโรควินปลอดภัยเพราะได้รับอนุญาตให้ใช้รักษามาลาเรียแล้ว อย่างไรก็ตาม ซีดีซียืนยันว่า ยังไม่อนุมัติให้ใช้รักษาโควิด-19 และยังต้องทดสอบเพิ่มเติม

ขณะที่ยาสูตรผสมโลปินาเวียร์กับริโทนาเวียร์ คณะนักวิจัยของโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่นเผยว่า หลังใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 100 คนที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานทั่วไป พบว่าได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน

158505197720
- โลปินาเวียร์และริโทนาเวียร์ -

ส่วนยาอีกชนิดที่ไม่อยู่ในโครงการทดลองของ WHO อย่าง "ฟาวิพิราเวียร์" (favipiravir) ซึ่งเป็นยาต้านไข้หวัดใหญ่ที่บริษัทฟูจิฟิล์มโตยามาเคมิคัลของญี่ปุนพัฒนาขึ้น ผลการทดลองรักษาผู้ป่วยในเมืองอู่ฮั่นและเสิ่นเจิ้นของจีนพบว่า ได้ผลอย่างเห็นได้ชัดและมีความปลอดภัยสูง แต่ต้องทดสอบเพิ่มเติมก่อนทำการทดลองทางคลินิกต่อไป

158505214873
- ฟาวิพิราเวียร์ -