เปิดสถิติหุ้นไทย 'ขึ้น'หรือ'ร่วง‘รับพรก.ฉุกเฉิน

เปิดสถิติหุ้นไทย  'ขึ้น'หรือ'ร่วง‘รับพรก.ฉุกเฉิน

 “บล.หยวนต้า” เผยสถิติหุ้นไทยหลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วง15ปีที่ผ่านมา พบวันแรกเปิดทำการดัชนีร่วง 0.20-2.77%  “ณัฐพล” ชี้รอบนี้ต่างจากอดีต ที่เกิดจากปัจจัยการเมือง ชี้หากปิดตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีลงเฉลี่ย 2% ในวันเปิดทำการ หากไม่ปิดดัชนีเคลื่อนไหวตามตลาด

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) กล่าวว่า ทีมฝ่ายวิเคราะห์ของบริษัทได้รวบรวมผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย กรณีการประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในช่วง 15ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบทั้งหมด 4 ครั้ง และมี 2 ครั้งที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดทำการ 1-2 วันโดยมีรายละเอียดดังนี้

ครั้งแรกวันที่ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) ช่วง 22.00-05.00 น. ถึง 13 มิ.ย. 2557 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดทำการซื้อขาย หลังจากประกาศ วันแรกดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 0.60% หลังจากนั้น5 วัน ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.24% และหลังจากนั้น10 วันดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.38%

ครั้งที่2 เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 รัฐบาลออกพ.ร.ก. ฉุกเฉินควบคุมการชุมนุม 60 วัน ครอบคลุมพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ เฉพาะอำเภอบางพลี และ ปทุมธานี เฉพาะอำเภอลาดหลุมแก้ว ตลาดหลักทรัพย์เปิดซื้อขาย ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันแรกหลังประกาศ ปรับตัวลดลง 0.20% หลังจากนั้น5 วันดัชนีปรับตัวลดลง1.62% และหลังประกาศ10 วัน ดัชนีลดลง1.21%

ครั้งที่3 วันที่ 19 พ.ค. 2553 รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว 20.00-06.00 น. ถึง 20 พ.ค. 2553 เพื่อควบคุมการชุมนุม ตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการวันที่ 20-21 พ.ค. 2553 วันแรกที่เปิดซื้อขายดัชนีปรับตัวลดลง2.27% หลังจากนั้น5วันดัชนีลดลง1.88% และหลังประกาศ10 วัน ดัชนีลดลง0.59%

ครั้งที่4 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ประกาศยึดอำนาจ ตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการวันที่ 20 ก.ย. 2549 วันแรกตลาดหลักทรัพย์เปิดซื้อขายดัชนีลดลง1.42% หลังจากนั้น5วัน ดัชนีลดลง1.33% และหลังจากนั้น10 วันดัชนีลดลง2.05%

นายณัฐพล กล่าวว่า ในเชิงของผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยในครั้งนี้ หลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจไม่สามารถเทียบเคียงกับอดีตที่ผ่านมาได้ เพราะการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมาเป็นผลสืบเนื่องในทางการเมือง แต่ครั้งนี้เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตลาดทุนยุคใหม่

ทั้งนี้ ข้องสรุปที่ได้ในเบื้องต้นคือ ถ้ามีการปิดตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีจะลงเฉลี่ย 2% ในวันที่เปิดทำการ ซึ่งถ้าบวกค่าความผันในปัจจุบันเข้าไป หากปิดรอบนี้อาจลงแรง 5% ถึง 7% ในวันที่เปิดทำการ แต่ถ้าไม่มีการปิดตลาดหลักทรัพย์ และเป็นการควบคุมสถานการณ์ที่ทำให้คนทั้งประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ดัชนีจะไม่ถูกกดดัน และเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยไม่อยากให้กังวลกับการประกาศภาวะฉุกเฉินมากนัก และประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำที่ตลาดหลักทรัพย์จะปิดทำการ เพราะการเคลื่อนไหวของดัชนีไม่ได้ผิดปกติเมื่อเทียบกับภูมิภาค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากโควิด-19 ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ