“ร.ฟ.ท.”เร่งสร้างทางคู่เฟส 1 เตรียมเปิดบริการสายใต้ปีหน้า

“ร.ฟ.ท.”เร่งสร้างทางคู่เฟส 1   เตรียมเปิดบริการสายใต้ปีหน้า

ร.ฟ.ท.เร่งรถไฟทางคู่เฟส 1 คืบหน้า 60% คาด สายใต้ นครปฐม - ชุมพร เปิดบริการปีหน้า เล็งพัฒนาเฟส 2 หวังพัฒนาสายอีสาน เชื่อม อีอีซี

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่าโครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ตามแผนพัฒนาทางคู่ ระยะที่ 1 รวม 7 เส้นทาง ขณะนี้ ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการไปแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า – แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ที่่เหลืออีก 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง คืบหน้าสูงสุดอยู่ที่กว่า 60% โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการทั้งหมดในปี 67 แบ่งเป็น รถไฟทางคู่สายใต้ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 64 รถไฟทางคู่สายเหนือ เปิดให้บริการในปี 65 และรถไฟทางคู่สายอีสาน เปิดให้บริการในปี 66 นอกจากนี้ ร.ฟ.ท. จะเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม และรอการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม รวมถึงปรับปรุงรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ สัญญา 1 (บ้านกลับ – โคกกระเทียม) คืบหน้า 17.08% เร็กว่าแผน 4.41 % ส่วนช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ สัญญา 2 (ท่าแค - ปากน้ำโพ)คืบหน้า 51.80% เร็วกว่าแผน 0.16% ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 1 (มาบกะเบา – คลองขนานจิตร) คืบหน้า 61.16% เร็วกว่าแผน 2.86% ส่วนช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 2 (คลองขนานจิตร - ชุมทางถนนจิระ) อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน มี.ค.นี้ และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 3 (อุโมงค์รถไฟ)คืบหน้า 36.065% เร็วกว่าแผน 0.002%
ด้านเส้นทางช่วงนครปฐม – ชุมพร แบ่งออกเป็น ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญา 1 (นครปฐม - หนองปลาไหล) คืบหน้า 54.118% ช้ากว่าแผน 17.405% ส่วนช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญา 2 (หนองปลาไหล -หัวหิน) คืบหน้า 61.887% เร็วกว่าแผน 5.025% ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ คืบหน้า 63.43% ช้ากว่าแผน 17.894% ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญา 1 (ประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย) คืบหน้า 53.650% เร็วกว่าแผน 0.356% และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญา 2 (บางสะพานน้อย - ชุมพร) คืบหน้า 42.829% เร็วกว่าแผน 3.404% " เฟส 2 คาดว่าสายอีสาน ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี และช่วงขอนแก่น – หนองคาย จะพัฒนาได้ก่อน เพราะมีคนใช้เยอะและยังเชื่อมต่อจากเพื่อนบ้านเข้าสู่พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ได้ด้วย"