แผลใจบาดลึก ‘แพทย์-พยาบาล’ โควิด-19

แผลใจบาดลึก ‘แพทย์-พยาบาล’ โควิด-19

เปิดแผลบาดลึกในใจแพทย์และพยาบาลในประเทศจีน จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ความทุกข์ในใจที่ต้องฝืนทนเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพกายของประชาชนเท่านั้น ตอนนี้นักบำบัดสายด่วนให้คำปรึกษา และกลุ่มสุขภาพออนไลน์ในประเทศจีน กำลังทำงานกันมือเป็นระวิงรองรับความต้องการขอคำปรึกษาที่พุ่งสูง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าพลิกชีวิตประชาชน

ยิ่งประเทศขาดแคลนผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงไปอีก หลังจากจีนใช้มาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อนในการสกัดไวรัสมรณะ ทำให้ประชาชนหลายสิบล้านคนต้องถูกกักบริเวณ บางคนก็กลัวการออกไปข้างนอก

“แต่ละวันเรามีคนโทรเข้ามาราว 20 สาย บางคนต้องทนดูญาติตายไปต่อหน้าต่อตาโดยไม่มียารักษา ช่วงที่ไวรัสระบาดตอนแรกๆ ตอนนั้นโรงพยาบาลไม่มีเตียงมากพอ แต่ส่วนใหญ่เป็นสายจากผู้ป่วยที่กังวลว่ารักษาแล้วทำไมหายช้า หรือคนที่กังวลว่าตนเองติดเชื้ออยู่หรือเปล่า” นักจิตวิทยาแซ่ซู จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ศูนย์กลางการแพร่ระบาดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี

เมื่อวิกฤติยืดเยื้อ ทางการสั่งกักกันตัวผู้ติดเชื้อ หลายคนสงสัยว่าตนเองต้องถูกแยกตัวไว้ดูอาการนานแค่ไหน

ชี อึ้ง อาจารย์ด้านจิตเวช มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าวว่า ทั้งหมดนี้ยิ่งเติมเชื้อความท้อแท้ เหงาหงอย และโกรธขึ้ง

“ยิ่งกักตัวนาน สุขภาพจิตก็ยิ่งแย่” นักวิชาการรายนี้ย้ำ

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่แนวหน้าก็ต้องรับผลความเครียดอันมีสาเหตุจากไวรัส ที่ในจีนมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 80,000 คน หลายคนรู้สึกได้ถึงความเครียดนั้น

นักศึกษาอยู่กับบ้านต้องเรียนหนังสือทางออนไลน์ หญิงมีครรภ์ คู่สามีภรรยาที่ไม่มีคนดูแลลูก คนเหล่านี้ล้วนต้องการความช่วยเหลือบรรเทาความหวาดหวั่นและหงุดหงิดด้วยกันทั้งสิ้น 

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (เอ็นเอชซี) แถลงว่า มหาวิทยาลัย รัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรสุขภาพจิตได้จัดตั้งสายด่วนกว่า 300 สาย แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า จีนมีจิตแพทย์เพียง 2.2 คน ต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น

ท่ามกลางความขาดแคลนบุคลากรมืออาชีพอย่างรุนแรง รัฐบาลทำได้แค่ส่งทีมที่ปรึกษา 415 คนไปยังมณฑลหูเป่ย์ เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ป่วยหลายหมื่นคน

อาสาสมัครหลายคนที่รับโทรศัพท์สายด่วนในกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้เผยว่า พวกเขาทำงานโดยไม่ได้รับการฝึกอบรมการดูแลสุขภาพจิตในสถานการณ์วิกฤติ จึงเสี่ยงรับความทุกข์ใจมือสอง

“อาสาสมัครบางคนถึงกับร้องไห้ หลังเสร็จสิ้นการให้คำปรึกษาพวกเขาโศกเศร้าและอัดอั้นตันใจ” หมิง ยู่ นักจิตวิทยาฝึกอบรมกล่าว เธอทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับสายด่วนของมหาวิทยาลัยปักกิ่งนอร์มอลที่เปิดรับสายจากทั่วประเทศ

ส่วนจิตแพทย์อย่างซูกล่าวว่า เธอทำสมาธิวันละครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มงานที่โรงพยาบาล “นี่แหละการรับมือของฉัน ไม่งั้นฉันจะรับภาระทางอารมณ์ไว้มากเกินไป”

ผู้ที่เสี่ยงต่อความเครียดหนีไม่พ้นแพทย์และพยาบาลที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องดูแลเพื่อนร่วมงานที่ป่วย

“ช่วงที่ซาร์สระบาด มีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 89% ได้รับผลกระทบทางใจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” อึ้งกล่าวอ้างถึงสมัยที่ไวรัสโคโรน่าอีกตัวหนึ่งระบาดในปี 2545-2546 ขณะที่ตอนนี้เจ้าหน้าที่แพทย์จีนติดโควิด-19 แล้วกว่า 3,400 คน ซึ่งอึ้งเตือนว่า การโฆษณาชวนเชื่อของสื่อรัฐ ที่ฉายภาพให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นวีรบุรุษผู้รักชาติ จริงๆ แล้วอาจกีดกันบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ได้รับในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

“เมื่อคุณต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความคาดหวังบางอย่าง ว่าคุณต้องเป็นคนเข้มแข็ง มุ่งมั่น และอุทิศตัวในฐานะบุคลากรมืออาชีพ มันก็ยากที่จะเปิดเผยความเปราะบางที่คุณต้องเผชิญ”

ตู หมิงจุน เลขาธิการสมาคมที่ปรึกษาจิตเวชหูเป่ย์ กล่าวว่า เขาได้รับโทรศัพท์เพียงไม่กี่สายจากแพทย์และพยาบาลแนวหน้า

“หลายคนที่โทรมารู้สึกเหนื่อยหน่ายและหงุดหงิด แต่หลายคนก็ยุ่งและอายเกินกว่าจะขอความช่วยเหลือ”

การขาดแคลนมืออาชีพผู้ผ่านการฝึกอบรมทำให้ต้องตั้งกลุ่มที่ปรึกษาออนไลน์ขึ้นมา มีหลายร้อยคนเข้าร่วมพูดคุย โดยนักบำบัดทำหน้าที่แบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์การทำสมาธิ และดนตรีผ่อนคลายความเครียด

“ฉันรู้สึกเหมือนมีคนมากดปุ่มหยุดชีวิตเอาไว้ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะกดปุ่มเดินหน้าต่อ” ผู้ร่วมกิจกรรมกลุ่มบำบัดรายหนึ่งจากเมืองเวิ่นโจวระบายความรู้สึก เมืองนี้อยู่ทางตะวันออกของจีนและถูกปิดเมืองเหมือนกับอู่ฮั่น

อย่างไรก็ตาม อึ้งเตือนด้วยว่า ต่อให้การแพร่ระบาดจบลง บาดแผลทางใจอาจดำรงอยู่อีกนาน ผลการศึกษาชี้ว่า ผลกระทบต่อจิตใจอาจอยู่ต่อไปอีก 3 เดือนหรือหนึ่งปีหลังการระบาด