กสทช.ถกแบงก์ชาติ ดึง ค่ายมือถือ หาช่อง 'ปล่อยกู้'

กสทช.ถกแบงก์ชาติ ดึง ค่ายมือถือ หาช่อง 'ปล่อยกู้'

ผุดแนวคิดใช้ 'บิลค่ามือถือ' แทนสเตทเม้นท์ เผย "ทรู" เตรียมเข้าจ่ายค่าใบอนุญาต 5G สัปดาห์นี้ ติงอย่าเปิดบริการหากยังไม่จ่ายค่าไลเซ่นส์ สร้างความสับสนให้ลุกค้า เอาคลื่นทดลองมาใช้เชิงพาณิชย์

กสทช.ต่อยอดเอ็มโอยูกับธปท.ถกแผนการปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อยและไม่มีบัญชีเงินฝาก ระบุใช้บิลยอดค่าจ่ายโทรศัพท์มือถือแทนสเตทเม้นท์ ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ หวังแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศ คาด 5จี ช่วยดันอุตฯภาคการเงินโต 16% ส่วนความคืบหน้า 5จี “ฐากร” ออกโรงขู่ “ทรู” อย่าเปิดบริการหากยังไม่จ่ายค่าไลเซ่นส์ ชี้อย่าสร้างความสับสนให้ลุกค้า เอาคลื่นทดลองมาใช้เชิงพาณิชย์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ สำนักงานกสทช.จะหารือร่วมกับนาย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยใช้บิลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือน (โพสต์เพด) และเติมเงิน (พรีเพด) แทนรายงานการเดินบัญชี (สเตทเม้นท์) ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบอย่างถูกต้อง

โดยความร่วมมืออยู่ภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สำนักงานกสทช. และ ธปท. ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านวิชาการการศึกษา และวิจัยด้านการกำกับดูแลบริการโทรคมนาคมและบริการทางการเงิน ซึ่งหากเห็นชอบในแนวทางร่วมกันธปท.จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่กสทช. จะประสานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อขอข้อมูลค่าบริการยอดใช้แต่ละเดือน จากนั้นจึงยื่นคำขอสินเชื่อพร้อมเอกสารประกอบที่ธนาคาร และรอการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป

สำหรับยอดผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมของโอเปอเรเตอร์ภาคเอกชน 3 ราย อยู่ที่ 93.2 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จำนวน 42 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าเติมเงิน 32.9 ล้านเลขหมาย และลูกค้ารายเดือน 9.1 ล้านเลขหมาย ขณะที่บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 30.6 ล้านเลขหมาย ได้แก่ ลูกค้าเติมเงิน 22.3 ล้านเลขหมาย และลูกค้ารายเดือน 8.3 ล้านเลขหมาย และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จำนวน 20.6 ล้านเลขหมาย ได้แก่ ลูกค้าเติมเงิน 14.2 ล้านเลขหมาย และลูกค้ารายเดือน 6.4 ล้านเลขหมาย

“กสทช. คาดการณ์ว่าการขับเคลื่อน 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 178,361 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.03% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น การค้าและการเงิน 16% มูลค่า 529.77 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 381.71% เป็นต้น ซึ่งการร่วมมือกันกับ ธปท. ครั้งนี้ อาจช่วยกระตุ้นให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.05-1.07% ได้” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้รับการประสานจาก บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือกลุ่มทรูฯว่า จะเข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกจำนวน 1,912,399,111 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต 19,123,991,110 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมรับใบอนุญาต และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) จากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือจำนวน 17,211,591,999 ล้านบาท ภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ ตนได้รับร้องเรียนจากประชาชนถึงความสับสนเกี่ยวกับการเปิด 5จีของทรูฯ เพราะมีข่าวประชาสัมพันธ์ออกไปว่า ทรูฯได้เปิดให้บริการ 5จีบนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นข่าวการโฆษณา 5จีพร้อมสมาร์ทโฟน หัวเว่ย และ ซัมซุง รุ่นล่าสุดที่วางจำหน่ายไปสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทรูฯยังเปิด 5จีในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เพราะยังไม่มาชำระค่าบริการค่าใบอนุญาต และการทำตลาดในลักษณะดังกล่าว ทรูต้องชี้แจงกับลูกค้าให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนว่า การทำตลาดร่วมกับสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5จีนั้น เป็นการทำตลาดร่วมกับแพคเก็จ 5จี หรือเป็นการทดลองทดสอบบริการ เพราะถ้าเป็นการทดลองทดสอบ ก็จะให้บริการบนคลื่น 26-28 กิกะเฮิรตซ์เท่านั้น ไม่ใช่คลื่น 5จีที่ประมูลไป