ป้องกัน COVID-19 ‘โรงเรียน-ผู้ปกครอง’ ต้องอ่าน!

ป้องกัน COVID-19 ‘โรงเรียน-ผู้ปกครอง’ ต้องอ่าน!

ตอบคำถามคาใจของ "ผู้ปกครอง-สถานศึกษา" โดย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

วานนี้ (6 มี.ค.63) นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว "หมอแก้ว ผลิพัฒน์" เกี่ยวกับ ข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันโรค COVID-19 ในโรงเรียน” ซึ่งสรุปข้อมูลควรรู้สำหรับผู้ปกครองและสถานศึกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19)

โดยอธิบายว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 มีลักษณะบางอย่างคล้ายไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่น มีระยะฟักตัวสั้น ประมาณ 5 วัน และมีความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนไปคนได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นความรุนแรง

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ข้อมูลในปัจจุบัน) มีความรุนแรงสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 บ้าง นั่นคือ หากมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หนึ่งพันคน คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 3 - 5 คน ขณะนี้การระบาดในประเทศเรายังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่การระบาดในหลายประเทศได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ถ้าถามว่าโรคนี้มันจะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน จากประสบการณ์การรับมือไข้หวัดใหญ่ 2009 เราคาดว่า โรคนี้น่าจะสร้างความกดดันให้เราอีกประมาณ 2 ปี หรือจนกว่าเราจะมีวัคซีน หรือจนกว่าโรคจะหยุดระบาด

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ออกมาโดยการไอ จาม เอาละอองฝอยน้ำลายออกมา ดังนั้น ผู้ที่เสี่ยง คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในรัศมี 2 เมตร (ซึ่งละอองฝอยน้ำลายสามารถกระเซ็นถึง) หากเราอยู่ห่างจากผู้ป่วยมากกว่า 2 เมตร ความเสี่ยงก็จะลดต่ำลง การสัมผัสอย่างผิวเผิน เช่น การเดินสวนกัน โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการไอ เป็นต้น มีโอกาสติดเชื้อแทบจะเป็นศูนย์ นอกจากนี้ หากน้ำลาย ของผู้ป่วยตกลงบนผิวสัมผัส แล้วเรานำมือไปสัมผัสพื้นผิวนั้น ๆ แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า ตา จมูก หรือปาก ก็จะทำให้เราติดเชื้อได้เช่นกัน

พร้อมกันนี้ ได้ระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ว่า มี “โรงเรียน” และ “มหาวิทยาลัย”  เป็นเป้าหมายหลักของการป้องกันการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เพราะเป็นจุดที่คนอยู่ร่วมกันค่อนข้างมาก เป็นเด็กที่เล่นกันค่อนข้างเยอะ ถ้ามีผู้ป่วยเดินเข้ามาในโรงเรียนได้ ก็อาจทำให้มีการแพร่เชื้อต่อไป

158354359896

นายแพทย์ธนรักษ์​ จึงได้รวบรวม “คำถาม-คำตอบ” ที่ผู้ปกครอง และ สถานศึกษา ควรรู้และจำเป็นต้องรู้มา ณ ที่นี้ 

1. ถ้าเด็กกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและกักตัวครบ 14 วันแล้วมาเรียนได้ตามปกติหรือไม่?

ตอบ: สามารถมาเรียนได้ตามปกติ

2. ถ้าต้องเที่ยวเมืองไทย ต้องระวังสถานที่ท่องเที่ยวหรือเมืองที่คนจีนไปไหม ?

ตอบ: ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนไปมาก ประเทศจีนเองก็มีผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นก็มีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยมากขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยหากพูด ในหลักการในปัจจุบันก็คือสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก หรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด

3. ถ้ามือเราเป็นแผล เชื้อเข้าทางบาดแผลได้หรือไม่?

ตอบ: เชื้อตัวนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถติดเชื้อทางแผลได้

4. หน้ากากผ้าสามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้ไหม (ควรพ่นแอลกอฮอล์หรือไม่)

ตอบ: ซักแล้วใช้ซ้ำได้ ผงซักฟอกและแสงแดดฆ่าเชื้อโรคตายได้ โดยไม่จำเป็นต้องพ่นแอลกอฮอล์

5. ถ้าติดเชื้อแล้วโอกาสหายสูงมั้ย?

ตอบ: โอกาสหายจากโรคสูง โรคนี้เป็นโรคที่หายได้เองโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส

6. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อรักษาหายแล้ว ติดเชื้อซ้ำอีกได้มั้ย?

ตอบ: ส่วนใหญ่หากติดเชื้อแล้ว ทั่ว ๆ ไปเราจะมีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถป้องกันโรคได้สักระยะหนึ่ง ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีกมั้ย ส่วนที่เราพบเห็นในข่าว ส่วนใหญ่ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่ แต่เป็นการที่เรายังสามารถตรวจพบเชื้อในตัวผู้ป่วยได้ค่อนข้างนานหลังจากที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

7. โรงเรียนสามารถจัดกีฬาสีได้ไหม?

ตอบ: โรงเรียนควรประเมินสถานการณ์การระบาดเมื่อใกล้วันจัดงานอีกครั้งหนึ่ง หลักการที่สำคัญ คือ หากเราสามารถขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยพักอยู่กับบ้าน (ไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ หรือแขกรับเชิญ) ไม่มาร่วมกิจกรรมกีฬาสี คนที่เหลืออยู่ก็จะสามารถร่วมงานกีฬาสีกันได้อย่างมีความสุข 

นอกจากนี้ โรงเรียนอาจพิจารณานำมาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ มาใช้ร่วมด้วย เช่น การจัดงาน ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก การสนับสนุนให้กองเชียร์สวมใส่หน้ากากผ้า เป็นต้น

8. โรงเรียนสามารถจัดทัศนศึกษาได้ไหม?

ตอบ: ถ้าพื้นที่ที่โรงเรียนจะไปจัดกิจกรรม ทางโรงเรียนสามารถบริหารจัดการให้ปลอดผู้ป่วย (ทั้งนักเรียน ครู พนักงานขับรถ และทีมในพื้นที่) โรงเรียนก็จะสามารถจัดทัศนศึกษาได้

9. ในสระว่ายน้ำ ถ้ามีคนติดเชื้อลงไปใช้สระเราจะติดเชื้อไปด้วยไหม?

ตอบ: โดยทั่วไป คลอรีนฆ่าเชื้อได้ดี ดังนั้น ถ้าสระว่ายน้ำดูแลปริมาณคลอรีนในน้ำได้ตามมาตรฐานก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากว่ายน้ำอยู่ แล้วถูกคนติดเชื้อไอหรือจามใส่หน้าก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้

 

ทั้งนี้นายแพทย์ธนรักษ์ ให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่า วัตถุประสงค์ของการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีเด็กป่วยเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในโรงเรียน โดยมีหลักการที่สำคัญคือ "ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน เพื่อให้เด็กที่ยังสบายดีอยู่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ"

โดยแนะนำให้โรงเรียนควรจัดให้มีทีมงานรับผิดชอบประสานงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ขึ้นในโรงเรียน (ซึ่งควรประกอบด้วยครู เจ้าหน้าที่ นักเรียน และผู้ปกครอง) ทุกคนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนต่างต้องมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคในโรงเรียน ทั้ง ครู เจ้าหน้าที่ คุณพ่อคุณแม่ นักเรียน รวมไปจนถึงแม่บ้าน

โรงเรียนควรชี้แจงและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และมาตรการต่าง ๆ ที่โรงเรียนจะดำเนินการ และขอความร่วมมือจากทุกคนและทุกฝ่ายเพื่อให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดงาน และไม่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน

เฝ้าระวัง : โรงเรียนควรจัดระบบการติดตามการขาดเรียนของเด็กนักเรียนและครู ควรมีการตรวจสอบสาเหตุการขาดเรียนของนักเรียนและการลางานของครูด้วย โรงเรียนต้องรู้สถานการณ์ว่าเด็กขาดเรียนเท่าไหร่ ครูลางานเท่าไหร่ ขาดเพราะอะไร

โรงเรียนควรแนะนำให้นักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด (ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว) หยุดเรียน และพักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก อาจพิจารณา ไปพบแพทย์ตามความจำเป็น (ให้เป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละระยะ ของการระบาด)

ควรแนะนำให้นักเรียนตรวจสอบตัวเอง และพ่อแม่ช่วยกันตรวจดูลูก ๆ ทุกเช้าก่อนมาโรงเรียน ว่ามีอาการป่วย ไข้หรือเปล่า หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรให้ลูกหยุดเรียน

คัดกรอง: โรงเรียนควรมีการจัดระบบการคัดกรองนักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่ หากพบว่าป่วย ควรให้ผู้ป่วยหยุดพัก

- ถ้าสามารถทำได้ โรงเรียนควรจัดห้องพยาบาลสำหรับการแยกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ห้องพยาบาลควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

- หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนและครูที่มีอาการป่วยคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทุกคนหยุดเรียนได้ (ควรหยุดเรียนและพักอยู่กับบ้านอย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ) ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา (การปิดโรงเรียนสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ แต่ไม่สามารถยุติการระบาดได้ หากโรงเรียนยังไม่ปรับปรุงระบบการป้องกันโรค)

- โรงเรียนควรมีคำแนะนำ (เอกสาร โปสเตอร์ อีเมล ไลน์) ให้กับนักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ และพ่อแม่ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

- แนะนำ และสนับสนุนให้นักเรียนล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือด้วยเจลแอลกอฮอล์โดยการจัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ และควรจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ในจุดที่นักเรียนเข้าถึงอ่างล้างมือได้ยาก

- ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำละลายผงซักฟอกหรือแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด ให้บ่อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

- ควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

- ครูและนักเรียนอาจสวมใส่หน้ากากผ้ามาโรงเรียนได้ ความฟิตรอบใบหน้าของหน้ากากมีความสำคัญมากเพื่อให้อากาศที่หายใจเข้าผ่านการกรองของหน้ากาก 

- สถานศึกษาที่ยังไม่พบการระบาดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการนำนักเรียนจำนวนมากมารวมตัวกัน (เช่น การซ้อมเชียร์ การแข่งกีฬา เป็นต้น) หรือการเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นหมู่คณะ ส่วนสถานศึกษาที่มีการระบาดแล้วควรงดกิจกรรมดังกล่าวโดยเด็ดขาด

- โรงเรียนควรเตรียมมาตรการชดเชยทั้งด้านการเรียน การสอน เวลาในการเรียน และการปฏิบัติงานของทั้งนักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องหยุดพักการเรียนหรือปฏิบัติงานเนื่องจากการป่วย

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ อนึ่ง คำแนะนำต่าง ๆ อาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนไป และสามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละสถานศึกษา

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวสรุปไว้อีกด้วยว่า

ตอนนี้ บ้านเราไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ เรากำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติและอาจจะเป็นแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เราควร “Super Alert” กับชีวิตของเราและคนในครอบครัวของเรา ดูแลเขาให้ดีๆ แต่ เราไม่ควรไป “Super Alert” กับชีวิตคนอื่น ต้องไม่ไปคอยจับผิดคนอื่น เราควรเริ่มต้นด้วยการจัดการกับตัวเราและคนในครอบครัวเราก่อน เราต้องเริ่มที่เรา พ่อแม่และโรงเรียนจะต้องช่วยเหลือกัน พ่อแม่ต้องเข้ามาช่วยดูแลลูกของตัวเอง ไม่ชี้นิ้วใส่กัน ต้องเข้าอกเข้าใจกัน เตือนกันได้ ไม่ควรเตือนกันด้วยความรู้สึกว่ามานั่งจับผิดกัน คนเราพลาดกันได้ ต้องพยายามเข้าอกเข้าใจกัน นาทีนี้เป็นนาทีแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทุกคนต้องมีความตระหนักรู้และรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

เราจะก้าวข้ามตรงนี้ไปได้หรือเปล่าสุดท้ายขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ถ้าเราชนะเราจะชนะไปด้วยกัน ถ้าแพ้เราก็แพ้ไปด้วยกัน ไม่มีเสมอ

งานนี้ไม่ใช่งานวิ่ง 100 เมตร งานนี้คืองานวิ่งมาราธอน โรงเรียนเราปิดช้ากว่าโรงเรียนอื่นๆ ยังไงก็ต้องประคับประคองให้เราผ่านระยะนี้ไปให้ได้ และจะต้องเตรียมความพร้อมให้เต็มที่เมื่อโรงเรียนเปิดเทอมของปีการศึกษาหน้า ในเดือนสิงหาคม

ถ้าเรามีปัญหา เราควรมาคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ เพื่อให้ลูก ๆ ของเราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุขที่สุด และได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รอบตัวตามที่สถานการณ์เอื้ออำนวยให้ดีที่สุด ยังไงๆ ชีวิตก็จะต้องดำเนินต่อไป “life goes on” เราจึงต้องดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ด้วยสติ และปัญญา

ขอบคุณผู้ปกครองที่ช่วยสรุปการประชุม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนสรุปคำแนะนำออกมาให้ด้วยครับ

การคุยกันในวันนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในโรงเรียน อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างกลไกความร่วมมือในการป้องกันโรค ติดตามสถานการณ์ ตรวจสอบกำกับมาตรฐานความปลอดภัย และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ