'แอร์บัส' เมินศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา กองทัพเรือลุยเจรจาเมืองการบิน 'บีบีเอส'

'แอร์บัส' เมินศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา  กองทัพเรือลุยเจรจาเมืองการบิน 'บีบีเอส'

“แอร์บัส” เมินยื่นข้อเสนอศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา คาดเหตุไม่มั่นใจจำนวนอากาศยานเข้าซ่อม แผนจัดหาฝูงบินใหม่ไม่ชัด “บินไทย” ย้ำมีแผนสำรอง ด้าน “กพอ.” รับทราบ “บีบีเอส” ยื่นข้อเสนอเมืองการบินอู่ตะเภาดีสุด คาดอนุมัติร่างสัญญา เม.ย.นี้

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การบินไทยได้ออกประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล แต่ใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.2561 ซึ่งผลการคัดเลือก บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่การบินไทยกำหนด ส่งผลให้แอร์บัสกลายเป็นเอกชนที่จะต้องเข้ามายื่นข้อเสนอร่วมทุนครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการบินไทยและแอร์บัสเจรจารายละเอียดสัญญาร่วมทุน และทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการบินไทยได้กำหนดเวลาเปิดข้อเสนอร่วมทุนครั้งนี้ ตั้งแต่ 8.00 – 15.00 น. ของวันที่ 6 มี.ค. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย แต่ผลปรากฏว่าแอร์บัสไม่เข้ามายื่นข้อเสนอดังกล่าว

“ตอนนี้ก็ทราบผลว่าทางแอร์บัสไม่มายื่น ส่วนตัวผมก็ได้หารือร่วมกับทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้วว่าการทำงานที่ผ่านมาติดอะไร และการบินไทยเราได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว แต่จะออกมาในลักษณะใด ขอรอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้สรุปผลการเปิดรับซองเป็นรายงานก่อน”

“บินไทย”ยืนยันมีแผนสำรอง

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ที่ผ่านมาการบินไทยมั่นใจว่าแอร์บัสจะเข้ามายื่นข้อเสนอตามที่กำหนดไว้ เพราะเชื่อว่าการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาพยายามปรับความเข้าใจ และช่วยเหลือกันมาตลอด แต่อย่างไรก็ดี การบินไทยก็มีแผนสำรองแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีที่แอร์บัสไม่เข้ามายื่นข้อเสนอ เช่น นำโครงการออกเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อจัดหาเอกชนรายใหม่เข้ามาร่วมทุน

ด้านรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า คณะกรรมการรับซองของโครงการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลารับซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน หรือกำหนดให้แอร์บัสสามารถมายื่นข้อเสนออีกครั้งได้ในวันที่ 20 เม.ย.2563 แต่ไม่พบข้อกฎหมายส่วนใดที่อนุญาตให้ทำได้  เนื่องจากปกติแล้วจะมีข้อกำหนดเพียง กรณีไม่มีเอกชนมายื่นข้อเสนอร่วมทุน คณะกรรมการรับซอง หรือคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ จะต้องยกเลิกแนวคิดดังกล่าวไป

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่ทางแอร์บัสไม่เข้ามายื่นข้อเสนอ เบื้องต้นประเมินว่าอาจเกิดจากปัญหาที่ทางแอร์บัสไม่มั่นใจในการผลักดันเงื่อนไขร่วมทุนที่ระบุไว้ว่า แอร์บัสจะต้องจัดหาลูกค้า หรืออากาศยานเข้ามาซ่อมบำรุงในเอ็มอาร์โอนี้ตามจำนวนที่การันตีไว้ รวมทั้งแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ของการบินไทยก็ไม่ชัดเจน และยังพบว่าปัจจุบันแอร์บัสยังมีเอ็มอาร์โอที่ลงทุนไว้แล้วในเมืองเซปัง ประเทศมาเลเซีย

เดินหน้าเจรจา“บีบีเอส”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (6 มี.ค.) รับทราบความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ของกองทัพเรือ และมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เสนอเงินประกันรายได้เป็นผลตอบแทนให้ภาครัฐสูงที่สุด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก 

ทั้งนี้ ได้เข้าสู่กระบวนการเจรจา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยการเจรจาจะได้ข้อสรุปภายใน มี.ค.2563 และสามารถเสนอร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ ครม. พิจารณาเดือน เม.ย.2563 นี้