นายกฯ สั่งลุยบิ๊กคลีนนิ่ง 'อีอีซี' ฟื้นเชื่อมั่นท่องเที่ยวตะวันออก

นายกฯ สั่งลุยบิ๊กคลีนนิ่ง 'อีอีซี'  ฟื้นเชื่อมั่นท่องเที่ยวตะวันออก

กพอ.มั่นใจโควิด-19 ไม่กระทบนักลงทุน ยืนยันปักหลักไทยต่อ เตรียมบิ๊กคลีนนิ่งฟื้นความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวภาคตะวันออก เร่งงบบูรณาการ 1.6 หมื่นล้านลงพื้นที่ ปรับแผนใช้เงินมาฝึกอาชีพผู้ได้ผลกระทบโคโรน่า สั่ง “ดอน” ประสานทูตเร่งดึงต่างชาติลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมารนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการหารือการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะการตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมและการลงทุนในอีอีซีเป็นการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว 

ขณะที่การระบาดของโรคนี้เป็นเรื่องระยะสั้นแม้จะมีการประเมินว่าต้องใช้ระยะเวลามากกว่าเดิมในการยุติการระบาดแต่สถานการณ์ในไทยที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อยก็ถือว่าสะท้อนให้เห็นว่าเรามีการดูแลได้ดีระบบสาธารณสุขของไทยมีคุณภาพ จึงมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนที่ตัดสินใจมาลงทุนบางส่วนจะเพิ่มการลงทุนหรือมีโครงการขนาดใหญ่มากขึ้นมาลงทุน 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในระหว่างการประชุมว่า ขอให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประสานเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำในต่างประเทศช่วยประชาสัมพันธ์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอีอีซีให้มากขึ้น รวมทั้งนายกรัฐมนตรีสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการสนับสนุนการจะลงทุนอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัยที่กำลังเป็นที่ต้องการในขณะนี้ว่ามีบ้างหรือไม่

บิ๊กคลีนนิ่งฟื้นความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ มีการรายงานว่า สกพอ.จะมีการประสานกับจังหวัดชลบุรีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยในจังหวัดมีความโดดเด่นในเรื่องของการจัดอีเวนต์ด้านกีฬา รวมทั้งมีการประสานกับจังหวัดอื่น เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวในอีอีซี เพื่อลดผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมทั้งจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งอีอีซีอย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น 

นายคณิศ กล่าวว่า สกพอ.ในฐานะดูแลรับผิดชอบการขับเคลื่อนและบูรณาการงบประมาณพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งปี 2563 มีงบประมาณบูรณาการทั้งสิ้น 16,036 ล้านบาท โดยปีนี้งบประมาณมีการออกมาใช้ล่าช้ากว่าปกติจึงทำให้ต้องเร่งรัดการใช้งบประมาณและการลงทุน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเร่งรัดการลงทุนและการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่ง สกพอ.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตั้งเป้าหมายในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ 45% ภายใน 4 เดือน หรือภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมกันทุก 2 สัปดาห์เพื่อเร่งรัดให้ได้ตามเป้าหมาย 

สำหรับงบประมาณที่ สกพอ.ได้รับงบประมาณ 425 ล้านบาท ส่วนหนึ่งไว้สำหรับเดินทางไปต่างประเทศ ก็คงไม่ได้ใช้จึงขอนำงบส่วนหนึ่งไปสมทบกับกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดอบรมบุคคลกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการให้หยุดทำงานชั่วคราวหรือเลิกจ้างในอีอีซี โดยมีเป้าหมายในการฝึกอบรม 10,000 คน ใน 20 หลักสูตร ซึ่งจะช่วยให้แรงงานในอีอีซีมีทักษะในสาขาอาชีพที่สอดคล้องกับการทำงานในอนาคตเพิ่มมากขึ้น 

เคาะแผนจัดการน้ำ“อีอีซี”

ส่วนการพิจารณาแผนบริหารจัดการน้ำในอีอีซี มั่นใจว่าจะไม่มีการขาดแคลน โดยได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน จัดการมาตรการระยะสั้น-ยาว โดย สทนช.ทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563–2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี (ปี 2563–2580) เพื่อพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน 53 โครงการ วงเงิน 52,797 ล้านบาท ประกอบด้วย 

แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์

แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 12 โครงการ วงเงิน 1,927 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาต่างๆ ปรับระบบการเพาะปลูก

“มั่นใจได้ว่าหากมีฝนตกก่อนเดือนมิ.ย.และสามารถประหยัดการใช้น้ำในพื้นที่ได้ 10%ก็จะทำให้ปริมาณการใช้น้ำในอีอีซีเพียงพอ”นายคณิศกล่าว 

หนุนลงทุนโซลาร์เซลล์

นอกจากนี้ กพอ.เห็นชอบหลักการโครงการ มอบหมายให้ สกพอ. เสนอกระทรวงพลังงาน นำเข้าบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคาไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยศึกษาพัฒนาลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นและระบบกักเก็บพลังงานในอีอีซี 

ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเป็น 70:30 โดยมีเป้าหมายการผลิตระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในอีอีซี โดยผสมผสานร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในอีอีซีให้เป็นโครงการตัวอย่าง