'อีเวนท์' อ่วม! เซ่นพิษไวรัส เลื่อนจัดงาน-รายได้หด

'อีเวนท์' อ่วม! เซ่นพิษไวรัส เลื่อนจัดงาน-รายได้หด

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 หลังพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหู่เป่ย ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2562

ก่อนค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จากจีนไปประเทศข้างเคียงในภูมิภาคเอเชีย จนระบาดไปทั่วโลก โดยจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุด ณ วันที่ 6 มี.ค. จ่อทะลุ 1 แสนรายแล้ว

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้การระบาดอยู่ในระยะที่ 2 คือ พบการติดเชื้อในประเทศแต่ยังอยู่ในวงจำกัด แต่เพื่อความไม่ประมาททุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาชนร่วมมือกันเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคไม่ให้สถานการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าโรคระบาดอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การใช้ชีวิต การเดินทาง ขนส่ง การค้าขาย ฯลฯ ขณะนี้เศรษฐกิจเสียหายไปไม่น้อย ภาคธุรกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก มีการปลดพนักงาน เพราะไม่มีรายได้เข้ามา ส่วนภาคการลงทุน ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงอย่างหนัก มาร์เก็ตแคปหายไปแล้วหลายล้านล้านบาท

การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสไปเต็มๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างน่าตกใจ ขณะนี้หายไปแล้วกว่า 3 ล้านคน เป็นคนจีนกว่า 1 ล้านคน ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่ากรณีที่สถานการณ์คลี่คลายในครึ่งปีแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 6 ล้านคน จากปีก่อนที่ 39.8 ล้านคน เหลือ 33 ล้านคน ต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่ถ้ายืดเยื้อนานไปมากกว่านั้น ความเสียหายจะยิ่งมากขึ้น

ขณะที่งานแสดงสินค้า อีเวนท์ทั้งเล็กและใหญ่ ไปจนถึงคอนเสิร์ต การแข่นขันกีฬาในหลายๆ รายการ ต้องยกเลิกการจัดงาน หรือ เลื่อนออกไปก่อน บางงานต้องปรับรูปแบบการจัดงานใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส

แน่นอนว่าเป็นแนวทางที่ดีท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แต่ในมุมของธุรกิจย่อมเกิดความเสียหายตามมาไม่มากก็น้อย ทั้งต่อตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ บริษัทที่เข้าร่วมงาน คู่ค้า พนักงานขาย ไปจนถึงผู้จัดงานอีเวนท์ และเจ้าของสถานที่

สัปดาห์ที่ผ่านมามีประกาศเลื่อนจัดงานใหญ่หลายงานที่เรียกเสียงฮือฮา เช่น งาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ครั้งที่ 41 ซึ่งคณะผู้จัดงาน บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI มีมติให้เลื่อนการจัดงานจากเดิมกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. - 5 เม.ย. 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ออกไปเป็นวันที่ 20 เม.ย. - 3 พ.ค. 2563 แม้จะเลื่อนงานออกไป แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่คึกคักเท่าหลายๆ ปีก่อน กระทบยอดขายค่ายรถ

ธุรกิจอีเวนท์ปีนี้ต้องเจองานหนัก นอกจากเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ยังเจอพิษไวรัสซ้ำเติมไปอีก บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยดูไม่สดใส คนไม่กล้าออกไปไหน ขณะที่ในมุมเจ้าของสถานที่จัดงานกระทบไม่น้อยเช่นกัน โดยายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ยอมรับว่า ขณะนี้มีลูกค้าผู้จัดงานขอเลื่อนวันจัดงานออกไปหลายราย ซึ่งบริษัทเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพยายามช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ จัดหาวันและห้องจัดงานที่เหมาะสมให้กับลูกค้าใหม่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบมีหลายอีเวนท์ที่ขอเลื่อนจัดงานในพื้นที่ของอิมแพ็ค เมืองทองธานี เช่น งาน “ไทยแลนด์ คอฟฟี่ เฟส 2020” และ งาน “รับสร้างบ้าน โฟกัส 2020” เลื่อนจากวันที่ 12-15 มี.ค. ออกไปแบบไม่มีกำหนด ขณะที่งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ครั้งที่ 48 เปลี่ยนรูปแบบมาจัดงานออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมงแทน ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. – 5 เม.ย. 2563

ส่วนคอนเสิร์ตเลื่อนจัดแสดงไปไม่น้อย โดยเฉพาะทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติ ด้วยข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยและการเดินทางในแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น วง “Green Day” และ “Khalid” นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน เลื่อนจัดแสดงคอนเสิร์ตในวันที่ 11 มี.ค. และ 24 มี.ค. นี้ ออกไปตามลำดับ

การเลื่อนจัดงานของลูกค้าที่เข้ามาใช้พื้นที่ของอิมแพ็ค เมืองทองธานี จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. นี้ แต่ถ้ายืดเยื้อจะส่งผลถึงงบประมาณปี 2564 ที่จะเริ่ม 1 เม.ย. 2563 – 31 มี.ค. 2564

ดังนั้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท (IMPACT) ซึ่งรับรู้รายได้จากกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และอาคารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมของโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็จะรับรู้รายได้ลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วหากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่ากิจกรรมต่างๆ งานแสดงสินค้า สัมมนา คอนเสิร์ต อีเวนท์ที่เลื่อนออกไปจะกลับมาคึกคักแน่นอน ผลกระทบตอนนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น