'คารูอิทรัค' ปฏิวัติสื่อการเรียนการสอน ดึงเกมสู่วิชาคณิตศาสตร์

'คารูอิทรัค' ปฏิวัติสื่อการเรียนการสอน ดึงเกมสู่วิชาคณิตศาสตร์

นักศึกษาครุศาสตร์ฯ สจล. คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ IDC 2019 โชว์ผลงานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนจากไอเดียสุดเจ๋ง “คารูอิ ทรัค” โมเดลต้นแบบจากรถบรรทุกที่ใช้ในการก่อสร้างสู่การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ที่ผสานระหว่างองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์

“คารูอิ ทรัค” (Karui Truck) โมเดลต้นแบบจากรถบรรทุกในงานก่อสร้าง สู่การพัฒนาสื่อสมัยใหม่ ผสานการคิดเชิงคณิตศาสตร์กับการเล่นเกมก่อสร้างด้วยตัวต่อ ตอบโจทย์เด็กวัยประถมและเด็กบกพร่องทางการมองเห็น ผลงานรางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโครงการ Covestro Innovation Design Contest 2019 (IDC 2019) จัดโดย โคเวสโตร (ประเทศไทย) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ)

158341881446

เยอร์เกน มายน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า IDC 2019 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสื่อการเรียนการสอนเชิงนวัตกรรม ขณะที่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมมีความสำคัญอย่างมาก และกำลังอยู่ในความสนใจของหลายประเทศทั่วโลก

โคเวสโตร จึงเล็งเห็นว่า การส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวให้กับภาคการศึกษาจะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็ง ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

เพิ่มฟังก์ชั่นเสียง-อักษรเบรลล์

นักศึกษาทีม “วากาวากาเอเอ” จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกอบด้วย นางสาวประภัสสร ศรีตะโคตร นางสาวภัสรา สุขแช่ม นางสาวจิรัฐพร ภู่ธราภรณ์ นางสาวรัตติญาภรณ์ อรรคนิมาตย์ และ นางสาววชิราภรณ์ วัจฉละอนันท์ ได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ภายใต้ชื่อ “คารูอิ ทรัค” (Karui Truck) ซึ่งหมายถึง รถบรรทุกแห่งแสงสว่าง ที่นำหลักการทางคณิตศาสตร์มาผสมผสานกับเกมและกิจกรรม โดยนำรถบรรทุกมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพื่อสื่อถึงการก่อสร้างที่จะต้องอาศัยกระบวนการคิดคำนวณทางด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เล่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต ทั้งยังเป็นการบูรณาการทั้ง 2 ศาสตร์มาไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

158341884623

ประภัสสร ศรีตะโคตร สมาชิกทีมวากาวากาเอเอ เปิดเผยว่า คารูอิ ทรัค เป็นชุดเสริมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับวัยประถมตอนต้นอายุ 7-9 ปี เน้นฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและคิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งอักษรเบรลล์ กาชาปอง (ของเล่นแคปซูล) เลโก้และเสียงเอฟเฟคต่างๆ ที่สร้างความสนุกสนานไปพร้อมๆ กับการเรียน

“แรงบันดาลใจจากรถโม่ปูนในงานก่อสร้าง ซึ่งพบเห็นทั่วไปในกรุงเทพฯ จึงนำมาเป็นต้นแบบและดัดแปลงเป็นสื่อสอนคิดเลข ด้วยการนำหลักสะเต็มศึกษามาใช้ในการออกแบบ พร้อมทั้งนำเลโก้ที่เปรียบเสมือนกับก้อนอิฐ เสา ปูน มาเป็นวัตถุดิบในการก่อสร้างด้วยการต่อเป็นรูปต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการวางแผน และทำงานเป็นทีม”

ฉลาดเล่น ฉลาดเรียนรู้

จิรัฐพร ภู่ธราภรณ์ อธิบายเสริมถึงส่วนประกอบของคารูอิ ทรัคว่า คารูอิ ทรัค (Karui Truck) ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนตัวรถ และส่วนกระบะ โดยในส่วนของกระบะนั้นจะมี 2 รูปแบบคือ 1.แบบธรรมดา 2.แบบถังโม่ ซึ่งในส่วนของแบบถังโม่จะประกอบไปด้วยกาชาปองจะมีตัวเลข 0-9 และอักษรเบลล์ที่ให้เด็กๆหมุนเพื่อนำตัวเลขที่ได้ไปคำนวณหาผลลัพธ์แล้วสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการ ส่วนแบบธรรมดา จะบรรทุกเลโก้ที่ให้เด็กๆมานับจำนวนตมผลลัพธ์ที่ได้จากตัวกาชาปอง ทั้งนี้ในตัวรถจะมีการติดลำโพงเพื่อแจ้งวิธีการเล่นและผลลัพธ์ที่ถูกต้องให้ผู้เล่นทราบพร้อมทั้งอธิบายกฎกติกาต่างๆ


“วิธีการเล่นคือ 1.หมุนตัวโม่เพื่อให้ได้กาชาปองตัวแรกออกมา และกดปุ่มเพื่อให้ได้เครื่องหมาย บวก ลบ คูณ หาร แล้วหมุนตัวโม่อีกครั้งจนได้กาชาปองอีกตัว 2.เมื่อคำนวณผลลัพธ์ที่ถูกต้องได้แล้วให้ทำการเลือกเลโก้จากรูปแบบที่ 1 หรือ 2 จากนั้นเมื่อได้เลโก้ตามจำนวนที่ต้องการผู้เล่นจึงนำเลโก้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์รูปแบบตามจินตนากการ หากจำนวนดลโก้ที่ได้รับไม่เพียงพอสามารถหมุนตัวโม่ได้อีกและต้องใช้เลโก้ที่มีอยู่ในครบตามจำนวนที่ได้”

158341890972


ขณะเดียวกันกลุ่มเป้าหมายของคารูอิ ทรัคคือ 1.ครูผู้สอน ที่คอยเป็นคนคอยให้คำแนะนำวิธีการเล่นเพิ่มเติม 2.เด็กช่วงอายุ 7-9 ปี ซึ่งการเลือกเด็กในช่วงวัยนี้เนื่องจากอยู่ในช่วงของการเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางด้านจิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยคารูอิ ทรัค สามารถเล่นได้ครั้งละ 1-3 คน ส่วนการส่งต่อผลงานนั้นคาดว่าเราจะส่งมอบให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนสื่อ และโรงเรียนเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอยและถือเป็นการยกระดับการศึกษาของไทยอีกด้วย


จิรัฐพร  กล่าวว่า จะส่งมอบชิ้นงานให้โรงเรียนที่ขาดแคลนสื่อและโรงเรียนเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน เบื้องต้นได้ประเดิมส่งมอบชุดต้นแบบให้โรงเรียนวัดสมุหราษฎร์บำรุง ปทุมธานี เมื่อเร็วๆ นี้

“จากการเข้าร่วมโครงการฯ เราได้เรียนรู้กระบวนการคิดที่มีระบบมากขึ้น เสริมสร้างคอนเนคชั่น อีกทั้งสามารถมองเห็นศักยภาพของตัวเองและผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันอื่นๆ ได้รับไอเดียใหม่ๆ ที่จะนำไปต่อยอดในอนาคตได้ โดยมีแผนการที่จะพัฒนาสื่อรูปแบบใหม่เพิ่มสำหรับวิชาอื่นๆ หรือเปลี่ยนรูปแบบจากรถบรรทุกเป็นยานพาหนะอื่นอย่าง เครื่องบิน เรือ แต่ยังคงคอนเซปต์เดิมคือ การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ความสนุกสนาน”