ต้องแลก? 'ภาพเขียนสี' 3,000 ปี กับ สัมปทาน 'เหมืองหิน' ที่ 'เขายะลา'

ต้องแลก? 'ภาพเขียนสี' 3,000 ปี กับ สัมปทาน 'เหมืองหิน' ที่ 'เขายะลา'

รู้จัก "ภาพเขียนสี" 3,000 ปี กับ สัมปทาน "เหมืองหิน" ที่ "เขายะลา" ต้องแลก

จากความเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนปกป้อง เขายะลา จ.ยะลา ที่มีการรวมตัวหน้ากระทรวงวัฒนธรรม ประท้วงกรณีกรมศิลปากรประกาศเพิกถอนพื้นที่เขตโบราณสถาน "ภาพเขียนสีเขายะลา" บางส่วน เพื่อเปิดทางให้สามารถทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ จาก "ประกาศกรมศิลปากร" เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ที่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 กรมศิลปากรได้ประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่คาบเกี่ยว ต.ลิดล – ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมมีขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพื้นที่ จ.ยะลา และจังหวัดใกล้เคียงกำลังประสบสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมสำหรับการก่อสร้าง เพราะแหล่งหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่มีปัญหาด้านความมั่นคง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมในเขตโบราณสถานเขายะลา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนหินอุตสาหกรรม และบรรเทาปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

นำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชน ที่แสดงความกังวลถึงกิจกรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ต่อภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รู้จักในชื่อ "ภาพเขียนสีเขายะลา" และยังจะส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของจังหวัดยะลา ระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน จนนำไปสู่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

สำหรับ "ภาพเขียนสีเขายะลา" นั้น ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีของประเทศไทยที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี จากการสำรวจศึกษาโดยเฉพาะของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา

โดยลักษณะทางกายภาพทั่วไปบริเวณเขายะลานั้น เป็นเขาหินปูน ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของ จ.ยะลา ที่บริเวณ ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมือง ซึ่งจากการสำรวจมีการพบถ้ำ และเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ตั้งแต่ส่วนตอนล่างของเขาไปจนส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลักษณะหุบเขา จากการสำรวจทางโบราณคดีพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และภาพเขียนสี

จากการสำรวจทางโบราณคดีพบแหล่ง "ภาพเขียนสีบนผนังหินของเขายะลา" 4 พื้นที่ คือ ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาตอแล หรือ ตอลัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา ภาพเขียนสีดำบริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา และแหล่งที่อยู่อาศัยชั่วคราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2 พื้นที่ คือ บริเวณหุบเขาและโพรงถ้ำด้านตะวันตกของเขายะลา และบริเวณหน้าเพิงผาภาพเขียนสีด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา

นอกจากนั้นยังพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ อาทิ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เครื่องมือหินกะเทาะ โกลนขวานหินขัด รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ด้วย

ภายหลังจากที่มีการประกาศเพิกถอนพื้นที่โบราณสถานเขายะลาบางส่วน มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่ที่ทราบข่าวต่างก็รู้สึกตกใจ และเสียใจกับการออกประกาศดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาชุมชนได้พยายามร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่เขายาลอ หรือเขายะลา ดังกล่าวไว้ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา