นายกฯดึงเอกชนรับมือ 'โควิด' ร่วมวงถก ครม.เศรษฐกิจ

นายกฯดึงเอกชนรับมือ 'โควิด'  ร่วมวงถก ครม.เศรษฐกิจ

นายกฯ เชิญเอกชน 3 สถาบัน ร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ 6 มี.ค.นี้ วางแผนรับมือผลกระทบโรคโควิด-19 "กกร." ชี้เบิกจ่ายงบรัฐเป็นเครื่องจักรดันเศราฐกิจตัวสุดท้าย

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย นัดหารือวานนี้ (4 มี.ค.) เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยว่า กกร.ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ลดเหลือ 1.5-2.0% จากเดิมอยู่ที่ 2-2.5% เพราะการระบาดโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ แม้ว่าในจีนเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ แต่มีผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว การเดินทางระหว่างประเทศ อีกทั้งการจัดงานและกิจกรรมถูกยกเลิก กกร.จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาทำให้จีดีพีลดลง

ส่วนการส่งออกติดลบ 2 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0.8-1.5% ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จะคลี่คลายในเดือน มิ.ย.นี้

การลดคาดการณ์จีดีพีดังกล่าวนับปรับติดต่อกัน 3 เดือน จากเดิม กกร.จะทบทวนรายทุกไตรมาส แต่ปีนี้ได้ปรับครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.2563 อยู่ที่ 2.5-3% และครั้งที่ 2 ในเดือน ก.พ.2563 อยู่ที่ 2-2.5% จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้าและภัยแล้ง

“จีดีพีครึ่งปีแรกคงไม่เติบโต และหากการระบาดยังมีจนถึงสิ้นปีนี้จะส่งผลให้จีดีพีติดลบ แต่คาดหวังว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนสถานการณ์จะคลี่คลาย”

กกร.อยู่ระหว่างรวบรวมมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเสนอคณะกรรมการรัฐมนตีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) นัดพิเศษวันที่ 6 มี.ค.นี้ เป็นครั้งแรกที่ ครม.เศรษฐกิจเชิญ กกร.ร่วมประชุม โดยจะเสนอเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 เพราะเป็นเครื่องยนต์เดียวที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้

รวมถึง มาตรการลดค่าไฟฟ้าให้เฉพาะเอสเอ็มอีและบ้านพักลง 5% เป็นเวลา 1 ปี ,การเร่งรัดคืนภาษี VAT ให้เร็วภายใน 30 วัน ,การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อการผลิตและไทยผลิตเองไม่ได้เหลือ 0% เป็นเวลา 1 ปี ,ลดการจ่ายเงินประกันสังคมของผู้ประกันสังคมทั้งลูกจ้างและนายจ้าง 50% เป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ

นอกจากนี้ จะเสนอให้ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจให้ทันต่อโควิด-19

อ่านข่าว-อัพเดทสถานการณ์ 'ไวรัสโคโรน่า' (covid-19) 4 มี.ค.

ส.อ.ท.ได้สำรวจ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลกระทบเชื้อโควิด-19 พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก มี 12 กลุ่ม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ,เคมี ,โรงกลั่น ,ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เพราะนำเข้าวัตถุดิบจากจีนไม่ได้และมีอุปสรรคในการส่งสินค้าไปจีน

สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางมี 9 กลุ่ม คือ ยานยนต์ สิ่งทอ เซรามิก เพราะหาแหล่งวัตถุดิบอื่นมาทดแทนได้ ส่วนกลุ่มที่กระทบน้อยมี 24 กลุ่ม เช่น เครื่องนุ่งห่ม น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ยาง เยื่อกระดาษ เนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อเพิ่ม 

“ภาคอุตสาหกรรมยังไม่พบว่า มีการเลิกจ้างงาน แต่ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวอาจมีการหยุดงาน หรือ เลิกจ้างชั่วคราวจากผลกระทบโควิด-19”

ทั้งนี้ ประเมินว่า ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ อันดับ 1 คือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันดับ 2 คือ ปัญหาภัยแล้ง และอันดับ 3 คือ สงครามการค้า ซึ่งหากคลี่คลายลงเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นไตรมาส 3-4

ส่วนการปรับเปลี่ยน ครม. นั้น หากเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง โดยมองประสิทธิภาพการทำงานไม่ใช่คะแนนเสียงจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่น ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นเรื่องของนายกฯพิจารณา

158332450399

นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจีดีพีที่ปรับครั้งนี้จะเป็นอัตราที่ต่ำสุดของปีนี้หรือไม่ เพราะต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจแต่ละเดือน และขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐที่จะออกมาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรทั้งภาคการท่องเที่ยวและส่งออก

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมฉุกเฉินและมีมติปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 1% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำ ดังนั้น กนง.ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้าน และทำให้เกิดความสมดุลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายเงินทุน