ร.ฟ.ท.ชงของบ 4 พันล้าน เคลียร์พื้นที่รับ 'ไฮสปีด'

ร.ฟ.ท.ชงของบ 4 พันล้าน เคลียร์พื้นที่รับ 'ไฮสปีด'

ร.ฟ.ท.เตรียมชง กพอ. 6 มี.ค.นี้ ไฟเขียวงบ 4 พันล้าน เคลียร์ปมรื้อย้ายสาธารณูปโภค เริ่มก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน หลังเจรจาแผนส่งมอบแล้วเสร็จ “ซีพี” เตรียมเข้าพื้นที่สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา สร้างเฟสแรก

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าเรื่องเวนคืน เรื่องผู้บุกรุก และกรอบกำหนดของการรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งขณะนี้พบว่าทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค ตลอดจนเอกชนที่ชนะการประมูลมีแผนทำงานที่ชัดเจน และมั่นใจว่าจะก่อสร้างเสร็จทันกรอบกำหนด

อย่างไรก็ดี หลังจากสรุปรายละเอียดของการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.นี้ เพื่อขออนุมัติงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท เป็นงบเพื่อก่อสร้างทดแทนสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายดำเนินโครงการนี้ อาทิเช่น ระบบไฟฟ้า ประปา และท่อระบายน้ำ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงสายไฟแรงสูงของค่ายลูกเสือในจังหวัดชลบุรี ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณรื้อย้ายประมาณ 3 ล้านบาท

“การส่งมอบพื้นที่มักกะสัน จะส่งมอบพร้อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะต้องไปพร้อมกับขบวนรถ ส่วนเรื่องเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ตอนนี้ทางซีพียังไม่ได้แจ้ง โดยผมได้สั่งการไปแล้วว่าตรงไหนพร้อมให้เข้าได้เลย เช่น ย้ายผู้บุกรุก เมื่อการรถไฟฯ ทำแล้ว ก็ขอให้ซีพีล้อมรั้วทันที"

ขณะนี้ ยังเชื่อว่าจะดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามแผน ส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ทันภายใน 2 ปีครึ่ง สำหรับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ติดการรื้อย้ายในส่วนของท่อน้ำมัน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้วว่าจะมีการรื้อย้ายท่อน้ำมันดังกล่าว จากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก โดยFPT จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายเอง อีกทั้ง FPT จะต้องจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้การติดตั้งท่อน้ำมันมีมานานก่อนกฎหมายกำหนดให้ทำอีไอเอ ดังนั้นเมื่อมีการรื้อย้ายใหม่ ตามกฎหมายจึงต้องจัดทำอีไอเอ ซึ่งจะจัดทำเพียงส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมเอกชนผู้ชนะการประมูล หรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ได้ชี้แจงแผนก่อสร้างด้วยว่า ต้องการขอขยายพื้นที่ก่อสร้าง 3 จุด จากรัศมีการเวนคืนที่ ร.ฟ.ท.กำหนดเดิม 25 เมตร เพิ่มเป็น 40 เมตร ส่งผลให้ต้องเวนคืนพื้นที่เพิ่ม ประกอบไปด้วย บริเวณงานก่อสร้างช่วงแม่น้ำบางปะกง บริเวณอุโมงค์เขาชีจรรย์ และบริเวณทางลอดใต้ถนนเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา

“เอกชนก็แจ้งว่าบางจุดอาจต้องเวนคืนเพิ่มเพราะบางส่วนต้องใช้พื้นที่ก่อสร้าง ต้องวางเครื่องจักร ซึ่งตอนนี้กำหนดมา 3 จุด เราก็ให้กลับไประบุเหตุผลความจำเป็น และหลังจากนั้นจะให้ที่ปรึกษาการรถไฟฯ ตรวจสอบ หากพบว่ามีความจำเป็นที่ต้องเวนคืนเพิ่มก็จะอนุมัติซึ่งรอพิจารณาในครั้งหน้า”

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า แผนส่งมอบพื้นที่ตอนนี้ถือว่าเสร็จหมดแล้ว ส่วนที่เหลือคือทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสาธารณูปโภคจะต้องจัดสรรงบประมาณในการรื้อย้ายเอง ซึ่งงบที่จะขอเพิ่มเติม 4 พันล้านนั้น เป็นส่วนที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการก่อสร้างทดแทนสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกเหนือจากงบประมาณรื้อย้าย 479 ล้านที่ ร.ฟ.ท.เคยได้รับอนุมัติจาก กพอ.ไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ แผนส่งมอบพื้นที่ที่ ร.ฟ.ท.กำหนด ส่วนแรกที่มีความพร้อมส่งมอบก่อน คือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา คาดว่าจะใช้เวลาส่งมอบแล้วเสร็จภายในประมาณ 1 ปีกว่า ซึ่งปัจจุบันได้เคลียร์ระบบสาธารณูปโภคเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นมั่นใจว่าพื้นที่ช่วงนี้ จะเป็นส่วนแรกที่กลุ่มซีพีสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้