ย้อนรอย ‘ผีน้อย’ แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลี มีตั้งแต่เมื่อไหร่?

ย้อนรอย ‘ผีน้อย’ แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลี มีตั้งแต่เมื่อไหร่?

ชวนรู้ที่มาคำว่า “ผีน้อย” หรือ “ผีน้อยเกาหลี” ที่เป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง จากกรณีที่ “ผีน้อย” ชาวไทยทยอยเดินทางจากเกาหลี (ที่มีการระบาดของ “โควิด-19” ในระดับ 3) เพื่อกลับเข้าสู่ประเทศไทยบ้านเกิด จนอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ไทยมีการระบาดรุนแรงขึ้น

เมื่อ “ผีน้อย” ชาวไทยทยอยเดินทางออกจากประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่มีการระบาดของ “โควิด-19” ในระดับ 3 เพื่อกลับเข้าสู่ประเทศไทย สถานการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่หลายฝ่าย (รวมถึงประชาชนคนไทยด้วยกัน) ต่างก็กังวลว่า “ผีน้อย” กลุ่มดังกล่าวจะนำพาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ มาแพร่กระจายในเมืองไทยจนสถานการณ์อาจรุนแรงขึ้น

เรื่องนี้ทางการไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด.. เจ้าหน้าที่ภาครัฐหลายหน่วยงานมีการเรียกประชุมด่วนเพื่อหารือถึงวิธีการรับมือกับสถานการณ์นี้แล้ว เช่น การส่งเจ้าหน้าด้านสาธารณสุขไปยังครัวเรือนของกลุ่ม “ผีน้อย” เพื่อประกบและเฝ้าสังเกตอาการว่าป่วยหรือไม่ โดยต้องกักตัวให้อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน เป็นต้น

แต่เรื่องที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่การรับมือกับสถานการณ์ “ผีน้อย” กลับบ้าน แต่หลายคนเริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า “ผีน้อย” คือใคร? ทำไมต้องไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้? และ “ผีน้อย” ชาวไทยมีมานานแค่ไหนแล้ว? วันนี้ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

  • “ผีน้อย” คืออะไร?

มีข้อมูลจากหลากหลายแหล่งแหล่งที่มา ต่างก็นิยามคำว่า “ผีน้อย” ในความหมายที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้นว่า..

นิยามที่ 1 : “ผีน้อย” เป็นศัพท์เรียกแทนคนไทยที่โดดวีซ่าลักลอบเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ มีข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของไทย ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีคนไทยทำงานในเกาหลีใต้ประมาณ 160,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมี “ผีน้อย” มากถึง 140,000 คนเลยทีเดียว

นิยามที่ 2 : “ผีน้อย” เป็นคำที่ใช้เรียกแรงงานไทยในเกาหลีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ใช้เรียกตัวเองและคนที่มีสถานะแบบเดียวกัน ที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้แบบไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย พวกเขามักจะระมัดระวังตัวในการพูดคุย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

นิยามที่ 3 : “ผีน้อย” คือ ผู้ถือพาสปอร์ตไทยที่อ้างว่าไปเที่ยวเกาหลี แต่อยู่เกินเวลาและไม่ต่อวีซ่าท่องเที่ยว เกิดการลักลอบเข้าไปทำงานแบบไม่มีใบอนุญาตทำงาน อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ และไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย

ส่วนอาชีพที่ “ผีน้อย” ชาวไทยมักจะเข้าไปทำงาน ได้แก่ กลุ่มแรงงานในภาคการเกษตร, แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์, พนักงานขาย, พนักงานร้านนวด, ลูกจ้างทั่วไป เป็นต้น

158331342499

  • “ผีน้อย” ชาวไทยในเกาหลี เริ่มมีตั้งแต่ปี 2017

ว่ากันว่ากลุ่ม “ผีน้อย” ชาวไทยเริ่มลักลอบเข้าไปหางานทำในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายมาตั้งแต่ประมาณปี 2017 (พ.ศ.2560) มีข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้พบว่า ในปี 2018 มีคนไทยในเกาหลีใต้จำนวน 168,711 คน ในจำนวนนี้รวมถึงนักท่องเที่ยวและคนที่อยู่เกินวีซ่า

โดยเป็นแรงงานถูกกฎหมายเพียง 24,022 คนเท่านั้น หมายความว่านอกจากนั้นอาจเป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า “ผีน้อย” ที่มีจำนวนมากถึง 140,000 คน ซึ่งแรงงาน “ผีน้อย” ส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมาก รองมาคือแรงงานในภาคการเกษตร และถัดมาคือร้านนวด โดยเป็นคนไทยจากภาคอีสานมากสุด รองมาคือภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง

กระแสของคนไทย(บางกลุ่ม)ที่นิยมไปทำงานที่เกาหลีใต้นั้น เกิดขึ้นมาจากแรงงานกลุ่มหนึ่งมีการปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น ได้แต่งงาน มีการเรียนภาษา และได้คลุกคลีกับชนชั้นแรงงานของเกาหลี เปิดช่องทางให้ชวนเพื่อนๆ คนไทยด้วยกันมาทำงานได้ จนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประกอบกับเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจในประเทศไทยไม่ดีต่อเนื่องหลายปี ทำให้คนชนชั้นแรงงานเลือกที่จะออกมาหางานทำนอกประเทศ

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ก็พบว่ามีแรงงาน “ผีน้อย” ชาวไทยเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้เพื่อไปทำงานแบบผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ จนมีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณปี 2018-2019 ทางการเกาหลีใต้จับตานักท่องเที่ยวไทยอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อสกัดไม่ให้กลุ่ม “ผีน้อย” ผ่าน ตม. เกาหลีใต้ไปได้ เพราะส่วนใหญ่มักจะแฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยว

ในครั้งนั้น ทางการเกาหลีตรวจจับ “ผีน้อย” ไทยได้หลายร้อยคนและดำเนินการส่งตัวกลับไทยทันที แต่ก็มิวายมีบางกลุ่มบางจำนวนเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้ และลักลอบทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันในปี 2020 ก็ยังพบแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีจำนวนมาก ซึ่งทยอยเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อหนีโรค “โควิด-19” ที่กำลังระบาดอย่างหนักในเกาหลีใต้ จนเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างที่หลายคนทราบกัน

158331342423

  • ทำไมบางคนถึงเลือกไปเป็น “ผีน้อย” ต่างแดน?

แล้วทำไม? คนไทยบางกลุ่มที่สมัครใจไปเป็น “ผีน้อย” หรือค้าแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ เรื่องนี้มีคำตอบจากงานวิจัยเรื่อง “แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี” (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) โดย ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน โดยเขาได้พบคำตอบว่า แรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานผิดกฎหมายที่เกาหลีนั้น ส่วนใหญ่จะมองในเรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก

กลุ่ม "ผีน้อย" มีความต้องการคล้ายๆ กันคือ ต้องการเงินไปดูแลครอบครัว เอาไปเติมเต็มความฝัน เช่น สร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่สบาย อยากให้ลูกได้รับการศึกษา ฯลฯ เป็นความฝันของคนทั่วไปแต่พวกเขาไม่สามารถทำได้ในสังคมไทยที่หาเงินได้แค่เดือนละ 9,000 บาท

นอกจากนี้งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า โดยพื้นฐานแล้วไม่มีแรงงานไทยคนไหนอยากมาทำงานที่เกาหลีใต้ แต่ปัญหาชนชั้นทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยที่ไม่เท่าเทียม ทำมให้แรงงานไทยต้องขวนขวายหาทางเอาตัวรอดด้วยการหาเงินในวิธีอื่นๆ จนมาจบที่การค้าแรงงานในต่างประเทศ แม้ว่าจะทำงานแบบผิดกฎหมายก็ตาม โดยส่วนใหญ่ “ผีน้อย” ชาวไทยมักจะปักหลักทำงานเก็บเงินอยู่นานถึง 5-6 ปี หากไม่ถูกจับ เมื่อเติมเต็มความต้องการได้แล้วก็จะกลับบ้านเกิด

อีกมุมหนึ่ง ในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกาหลีใต้เอง ก็มีความต้องการแรงงานที่มีค่าจ้างราคาถูกอยู่ค่อนข้างมาก โดยมีข้อมูลจาก "เพจลงทุนแมน" ระบุว่า ในปี 2019 GDP เกาหลีใต้ สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 51 ล้านล้านบาท หรือมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 986,000 บาทต่อปี ซึ่งการมี GDP ต่อหัวที่สูง ทำให้แรงงานมีค่าแรงขั้นต่ำสูงตามไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วประสบกันมาก ก็คือ แรงงานที่มีการศึกษาสูง ปฏิเสธที่จะทำงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น งานโรงงาน งานภาคเกษตรกรรม ฯลฯ ประกอบกับอัตราการเกิดของประชากรต่ำ จึงนำมาสู่การขาดแคลนแรงงานในด้านนี้ ก็ไม่แปลกที่ประเทศเกาหลีใต้จะต้องการแรงงานค่าแรงราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

จึงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า สาเหตุที่คนไทยบางกลุ่มเลือกที่จะเป็น “ผีน้อย” ในต่างแดนก็เพราะว่าชีวิตไม่มีทางเลือกด้านอาชีพและรายได้ไม่ตอบโจทย์ในเมืองไทย พวกเขาจึงเลือกที่จะมาทำงานแบบนี้เพื่อสานฝันและดูแลครอบครัวนั่นเอง

158331342410

---------------------------

อ้างอิง: 

Ethanol

https://www.the101.world/little-ghost-in-south-korea/

https://www.longtunman.com/21486