ถึงเวลา 'ธุรกิจ-รัฐบาล' ร่วมประคองเศรษฐกิจ

ถึงเวลา 'ธุรกิจ-รัฐบาล' ร่วมประคองเศรษฐกิจ

ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยพิษ COVID-19 เช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน "ประคับประคอง" ให้ผ่านพ้นโดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจาก "ภาคธุรกิจ" จะต้องหาหนทางประคองการจ้างงานไว้ให้ยาวนานที่สุด ฝั่ง "ภาครัฐบาล" ก็ต้องร่วมด้วย

จนถึงขณะนี้ เวลาผ่านไปกว่า 1 เดือน (24 ม.ค.) นับจากประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ออกคำสั่งให้ทัวร์จีนห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด 19 ที่เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

นอกจากจะยังไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดในจีนได้แล้ว เชื้อโรคยัง “ขยายวงกว้าง” ลามหนักไปยังหลายประเทศ โดยปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 30 ประเทศกระจายในทุกทวีปของโลก

ขณะที่ในไทยล่าสุด(1มี.ค.)พบชายไทยอายุ 35 ปีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับการเป็นไข้เลือดออกเสียชีวิตเป็นรายแรก

จะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคที่ยังไม่อาจขีดวงจำกัด ไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด ที่สำคัญยังไม่มียารักษา ต้องยอมรับว่าเป็นการ “บั่นทอน” การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย สำทับด้วยถ้อยแถลงของผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และกูรูเศรษฐกิจโลกอีกหลายราย ที่แสดงความกังวลในเรื่องนี้

ขณะที่ในไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวจีดีพี จากระดับ 2.7-3.7% ลงมาเหลือ 1.5-2.5% ในปีนี้ ขณะที่ผู้อำนวยอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประเมินว่า ไตรมาสแรกปีนี้ จีดีพีไทยจะต่ำสุดในรอบปี และหากการระบาดลากยาวไปทั้งปี จะกระทบจีดีพีไทยโตต่ำกว่า 1%

ในมุมผลกระทบในภาคธุรกิจไทย แน่นอนเกือบทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ จากผู้คนทั่วโลกที่ “รัดเข็มขัด” และ “หลีกเลี่ยงการเดินทาง” กดดันกำลังซื้อดิ่ง โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุดและก่อนใคร หนีไม่พ้นธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ บริษัททัวร์ โรงแรม สายการบินฯลฯ ซึ่งในขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณ "ลดต้นทุนพนักงาน" ด้วยการให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) รอให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย กำลังซื้อกลับมา พนักงานเหล่านี้ค่อยกลับมาทำงานใหม่

เนื่องจากในขณะนี้ ภาคธุรกิจยังประเมินว่าการระบาดของโรคยังเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ทว่าหากการแพร่ระบาดยาวนานเกินกว่าครึ่งปี หลายฝ่ายวิตกว่า จะเห็นหลายบริษัทเลิกจ้างงาน ลามไปถึงการปิดกิจการ กลายเป็นผลกระทบต่อสังคม ต้องใช้เวลาพลิกฟื้น

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ธุรกิจที่ยากลำบากเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน "ประคับประคอง" สถานการณ์ให้ผ่านพ้นโดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นอกจาก "ภาคธุรกิจ" จะต้องปรับตัวหาหนทาง "ยืนระยะ" เพื่อประคองการจ้างงานไว้ให้ยาวนานที่สุด ก่อนที่กรณีเลิกจ้างจะกลายเป็นปัญหาสังคมวกกลับมากระทบเศรษฐกิจอีกระลอก "ภาครัฐบาล" ก็ต้องร่วมด้วย

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3มี.ค.) จะพิจารณาหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบ ทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชน ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกันอย่างจริงจัง เร่งด่วนก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้ อย่างการจัดหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการประชาชน ที่มีผู้ร้องว่าเริ่มมีไม่เพียงต่อ ไม่รู้ต้องใช้เวลานานไหม ผู้เกี่ยวข้องตอบที