'การบินไทย' ลดเที่ยวบิน20% 'โควิด'ลามเส้นทางยุโรป

'การบินไทย' ลดเที่ยวบิน20%  'โควิด'ลามเส้นทางยุโรป

“การบินไทย” ขาดทุนปี 2562 หนัก 1.2 หมื่นล้าน รับโควิด-19 ฉุดธุรกิจ จ่อลดเที่ยวบินเพิ่มเป็น 20% มี.ค.นี้ หลังยุโรปเริ่มวิกฤต โดยเฉพาะอิตาลี หวังสถานการณ์คลี่คลายทันไฮซีซั่นปลายปี เร่งชงบอร์ด มี.ค.นี้เคาจัดหาฝูงบินใหม่ ชี้ต้องปรับเข้าสถานการณ์

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานปี 2562 โดยการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448 ล้านบาท หรือราว 3.9% ซึ่งเป็นผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท ผลกระทบหลักเกิดจากปัจจัยลบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาที่ยังคงรุนแรง

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมในปี 2562 มีตัวเลขรวมอยู่ที่ 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือราว 5.8% สาหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันที่ลดลง 5,421 ล้านบาท (9.0%) เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันลดลงจากปีก่อน 6,580 ล้านบาท (4.6%) สาเหตุหลักเกิดจากการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายเงินทดแทนวันหยุดประจำปี (วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายใน 3 ปี ตามที่ระเบียบบริษัทกำหนด) ที่รับรู้รายการเป็นค่าใช้ง่ายในงบการเงินสำหรับปี 2558-2561 รามประมาณ 1,261 ล้านบาท

รวมถึงการเปลี่ยนประมาณการณ์มูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์จาก 10% เป็น 6% โดยบันทึกผลกระทบของเครื่องบินที่คิดค่าเสื่อมราคาครบ 20 ปีแล้ว รวมไว้ในปี 2561 จำนวน 1,279 ล้านบาท ประกอบกับ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นลดลงตามปริมาณการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้การบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาท หรือราว 37.2%

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า ปี 2562 ถือเป็นปีที่ยากลำบากของธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก โดยการบินไทยที่ทำการบินทั้งในเอเชียและยุโรป จึงได้รับผลกระทบมากกว่าสายการบินอื่น ประกอบกับปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า สงครามการค้าจีนและสหรัฐ อีกทั้งยังเจอปัญหาความขัดแย้งในประเทศอินเดียและปากีสถาน ที่ทำให้การบินไทยต้องบินอ้อมน่านฟ้าและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

อีกทั้งการบินไทยยังหารายได้จากบริการ Preferred Seats ที่เริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค.2562 จากรายได้หลักแสน และสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาท โดยการบินไทยคาดว่าหากขยายการดำเนินงานเต็มรูปแบบ จะสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนเพิ่มเป้น 60–70 ล้านบาท

คาด มี.ค.ผู้โดยสารลด30%

นายสุเมธ กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่าโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และจะเป็นผลกระทบต่อรายได้อย่างไร แต่ในภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารพบว่าในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ลดลงราว 30% เช่นเดียวกับเดือน มี.ค.นี้ ประเมินว่าจะลดลงอยู่ที่ 30% โดยตลาดเอเชีย ปรับลดลง 30-40% ขณะที่ยุโรป ลดลงราว 5% ซึ่งยังถือว่าไม่มากนัก แต่กระทบหนักในเส้นทางอิตาลี

ขณะที่ภาพรวมของจำนวนเที่ยวบิน ปัจจุบันการบินไทยปรับลดเที่ยวบินลงแล้วราว 10% และจะลดเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้ เป็น 20% เพื่อให้สอดคล้องกับยอดจองการเดินทางของผู้โดยสาร (บุ๊กกิ้ง) โดยการปรับลดเที่ยวบินดังกล่าว การบินไทยดำเนินการในส่วนของเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมไปถึงเส้นทางในยุโรปที่ขณะนี้เริ่มมีการระบาด เช่น อิตาลี

“นาทีนี้คงไม่ใช่เวลาพูดเรื่องเพิ่มทุน เพราะคงไม่มีใครมาเพิ่มทุนในช่วงวิกฤต แต่เรามีแผนรองรับไว้แล้วกับทุกสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยจัดทำมาตรการรองรับไว้ 5 ระดับ คลอบคลุมการปฏิบัติการ รายได้ ค่าใช้จ่าย สภาพคล่อง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้น 4 ใกล้ 3 โดยขั้น 4 เราได้ทำการปรับลดค่าใช้จ่ายไปแล้วในบางส่วน”นายสุเมธ กล่าว

ส่วนการประเมินผลกระทบและการดำเนินงานในปี 2563 การบินไทยยังเชื่อว่าหากไม่มีโรคโควิด-19 รายได้ของบริษัทคงจะดีขึ้นกว่านี้ แต่สถานการณ์เช่นนี้ ต้องยอมรับว่าอาจต้องกลับมาประเมินว่าปีนี้ใครจะรอด และเมื่อรอดแล้วจะกลับมาอย่างไรมากกว่า ในส่วนของการบินไทยประเมินว่าสถานการณ์โรคโควิด -19 จะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 และเข้าไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว

ชงแผนจัดหาฝูงบิน มี.ค.นี้

นายสุเมธ ยังกล่าวด้วยว่า แผนจัดหาเครื่องบินใหม่ จำนวน 38 ลำ ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารนำกลับมาทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะนี้ได้ปรับปรุงเสร็จแล้ว และเตรียมจะเสนอบอร์ดพิจารณาภายในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอย้ำว่าการจัดหาเครื่องบินเป็นส่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผน เพราะเป็นการจัดหาที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นผลกระทบโควิด -19 จึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะกระทบ และชะลอแผนจัดหา

ขณะที่ปี 2562 มีความคืบหน้าการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการร่วมทุนโครงการใหญ่ของการบินไทย ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้ว โดยเอกชนที่จะเข้ามาร่วมทุน คือ บริษัทแอร์บัส จะมีการยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 มี.ค.นี้ 

ส่วนการดำเนินงานบริหารธุรกิจร่วมกับสายการบินไทยสมายล์ในปีที่ผ่านมาก็เป็นผลดี ไทยสมายล์สามารถเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินจาก 8.30 ชั่วโมง เป็น 10.30 ชั่วโมง และเฉลี่ยอยู่ที่ 9.30 ชั่วโมง