‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.52 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.52 บาทต่อดอลลาร์

หลังตลาดการเงินปรับฐานแรง จับตาตลาดเงินผันผวนการเมืองในประเทศเข้ามากดดันเพิ่มและผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกดดันตลาดการเงินต่อไปหรือไม่

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยตลาดการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)  เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.56 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.40-31.60 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นยังคงผันผวนหนัก ดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index ปรับตัวขึ้นแตะระดับ40% สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติหนี้ยุโรปและช่วงที่สหรัฐถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งในปี 2011 ดัชนี  S&P500 ของสหรัฐ จึงปรับตัวลงต่อ 0.8% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐร่วงหนัก 16bps ส่งผลให้ล่าสุดซื้อขายที่ระดับ 1.09% ต่ำที่สุดในประวัติการนอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ก็ปรับตัวลง 4.9% พร้อมกับราคาทองคำที่ย่อตัวลง 3.6%

ทั้งหมดเกิดจากความกลัวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด 19 การบริโภคที่ลดลงทั้งจากการเดินทางและภาพรวมการผลิต ไปจนถึงสภาพคล่องในระบบที่หายไปอย่างรวดเร็วหลังจากตลาดการเงินปรับฐานแรง

สำหรับในสัปดาห์นี้ มีประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้ามาให้ติดตามเพิ่มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้จัดซื้อทั้งภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตในจีนกับสหรัฐ (Caixin Manufacturing รายงานเช้านี้คาดว่าจะหดตัวลงมาที่ระดับ40จุด ISM Non-Manufacturing PMI รายงานตัวพุธ คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 55จุด) การแข่งขันกันเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันอังคาร (Super Tuseday) ขณะเดียวกันก็จะเป็นสัปดาห์ที่มีตัวเลขการจ้างงานในฝั่งสหรัฐรายงานในวันศุกร์ด้วย

ที่น่าจับตา คือผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกดดันตลาดการเงินต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของสหรัฐ ที่ต้องระวังว่าจะถูกบีบจากความกลัวมากกว่าที่อื่นเนื่องจากตัวเลขส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไวรัสระบาด ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงในตอนนี้ ตลาดอาจตีความว่าสหรัฐจะมีความเสี่ยงที่มากกว่าเศรษฐกิจอื่นในอนาคต ซึ่งจะกดดันทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายและราคาเงินดอลลาร์ให้ลดลงได้ต่อ

ในส่วนของตลาดเงิน เห็นชัดว่าเงินเยนและยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นทันทีหลังจากที่ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐปรับฐานเนื่องจากตลาดลดการ Carry Trade ในวันนี้ เชื่อว่าจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากภาพธนาคารกลางสหรัฐที่ส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป เพราะเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ความผันผวนจะบังคับให้เฟดต้องลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% ในการประชุมครั้งหน้า

ส่วนในฝั่งของเงินบาท ระยะสั้นยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่าในช่วงสภาพคล่องที่อยู่ในระดับต่ำมาก และนักเก็งกำไรต่างชาติต้องปรับลดสถานะขายเงินบาทลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ในระยะต่อไป ต้องระมัดระวังว่าอาจมีผู้ส่งออกขายเงินดอลลาร์ตามมาเนื่องจากปัญหาสภาพคล่องและการปรับตัวลงที่เร็วผิดปกติ สวนทางกับฝั่งนำเข้าที่ชะลอตัวตามภาพเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.25-31.85 บาทต่อดอลลาร์