'โรงแรม-แอร์ไลน์' ติดโควิด-19 ลุ้น.! ยุติ 'ครึ่งปีหลัง' ก่อนธุรกิจพัง!

'โรงแรม-แอร์ไลน์' ติดโควิด-19 ลุ้น.! ยุติ 'ครึ่งปีหลัง' ก่อนธุรกิจพัง!

ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก...! 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยว' เผชิญความท้าทายไม่หยุด ล่าสุด 'โควิด-19' ป่วนหนัก 'กูรูตลาดทุน' วิพากษ์ฉุด Valuation 'โรงแรม-สายการบิน' รายได้ กำไร ราคาหุ้น 'วูบ' 'บิ๊กเอกชน' กุมขมับ แห่ลดเป้าโต !! ภาวนาจบเร็วในครึ่งปีแรก ก่อนธุรกิจจะพัง

เกือบ 2 ปี เหตุการณ์ 'เรือล่มภูเก็ต' ต่อด้วย 'สงครามการค้า' (Trade War) ระหว่างสหรัฐ & จีน ส่งผลการค้าซบเซา กระทั้ง 'เงินบาทแข็งค่า' ทำให้ต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวไทยสูงขึ้น

สารพัดปัจจัยลบกระทบ 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยว' ยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อย ล่าสุดปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ยังเจอกับการแพร่ระบาด 'ไวรัสโคโรนา' สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่ทำให้ท่องเที่ยวไทยทรุดหนักเนื่องจากจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญที่สุดของไทย การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นยังกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทุกชาติ ไม่จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน !

บ่งชี้ผ่าน จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก (ณ 26 ก.พ.) ทะลุ 82,166 ราย มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 2,700 ราย สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของ 'ประเทศกลุ่มเสี่ยง' คือ จีน (นับรวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน และจับตาเฝ้าระวังใกล้ชิดประเทศสหรัฐ จากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา !

ขณะที่ 'องค์การอนามัยโลก หรือ WHO' ออกโรงเตือนทุกประเทศเตรียมรับมือกับ 'การระบาดทั่วโลก หรือ Pandemic' หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่นอกประเทศจีนมีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเมืองจีนเป็นครั้งแรก โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนอยู่ที่ 411 ราย ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่อยู่นอกแผ่นดินจีน 427 ราย

แม้ว่าถ้อยแถลงของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่บอกว่า สหรัฐ ไม่กังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว เนื่องจากเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยสหรัฐพบผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 60 ราย แต่ก็ไม่ทำให้นักลงทุนคลายความวิตก

สะท้อนผ่านเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา หลัง WHO ออกมาเตือนทั่วโลกเตรียมรับมือการระบาด COVID-19 ปฏิกิริยาแรกที่กระทบหนักสุดคือ ตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วน ! โดยตลาดหุ้น 'ดาวโจนส์' (สหรัฐ) ปิดตลาดดัชนี 27,081.36 จุด 'ลดลง' 879.44 จุด หรือ 3.15% ฟากฝั่ง 'ตลาดหุ้นไทย' ปิดตลาดระดับ 1,366.41 จุด ลดลง 72.69 จุด หรือ 5.05%

ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี!

เมื่อเกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้นทั่วโลกออกมา ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณ 'ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession)' ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง 'ทองคำ' ราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ ต่างออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีความคิดเห็นทิศทางเดียวกันว่า หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ภาวะเศรษฐกิจถอดถอยก็จะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจำต้องเผชิญ !!

นอกจากนี้ นับจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในเชิงการลงทุนได้ทำลาย 'มูลค่า' (Valuation) ของกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองไทยต่อไปเรื่อยๆ ทั้ง รายได้ กำไร ราคาหุ้น และเงินปันผล ! ที่คงได้รับผลกระทบ 'หนัก' บ่งชี้ผ่านเมืองไทยมีจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดเป็นอันดับ1 ของโลก โดยปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเมืองไทยอยู่ที่ 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลี และสปป.ลาว

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย มองว่า กรณีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็น 3 ระดับ คือ กรณี 'Best Case' ภายใน 1 เดือน ผลกระทบจะไม่มาก และจะฟื้นตัวเร็ว กรณี 'Base Case' ภายใน 1-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวจะ 'ติดลบ 2%' และ กรณี 'Worst Case' 6 เดือน นักท่องเที่ยวจะ 'ติดลบ 8-10%' และจะกระทบภาคส่งออก-นำเข้า เงินบาทจะออกค่าอยู่ที่ 31.5-32 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการ downside (ลดลง) อย่างมีนัยสำคัญ

หากพิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่อยู่ใน 'กลุ่มธุรกิจการบริการ' (โรงแรม) และ 'กลุ่มขนส่ง' (สายการบิน) ประกอบด้วย บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT บมจ. ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT บมจ. การบินไทย หรือ THAI บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV บมจ. สายการบินนกแอร์ หรือ NOK บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA

สถานการณ์ของบจ.ดังกล่าว ดูจะทรุดลงเรื่อยๆ หลังที่รัฐบาลจีนสั่งบริษัทนำเที่ยวหยุดดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวและงดการขายผลิตภัณฑ์ตั๋วเครื่องบินและโรงแรม สะท้อนหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวปรับตัว 'ลดลง' หากพิจารณาจาก 8 หุ้นในกลุ่มดังกล่าว เช่น หุ้น CENTEL หุ้น ERW หุ้น MINT หุ้น AOT หุ้น THAI หุ้น AAV หุ้น NOK และ หุ้น BA ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลดลงค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ตัวลดลงเฉลี่ย 26.82% 33.69% 23.77% 16.94% 41.73% 45.53% 47.59% และ 34.85% ตามลำดับ

ขณะที่ 'ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap' ของ หุ้น CENTEL หุ้น ERW หุ้น MINT หุ้น AOT หุ้น THAI หุ้น AAV หุ้น NOK และหุ้น BA ลดลงเช่นกันหากเทียบกับต้นปี 2563 โดยมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 33,750.00 ล้านบาท 14,979.32 ล้านบาท 166,284.16 ล้านบาท 1,060,713.22 ล้านบาท 14,951.99 ล้านบาท 10,864.00 ล้านบาท 6,217.03 ล้านบาท และ 14,595.00 ล้านบาท

โดยผ่านมาเกือบ 2 เดือน (26 ก.พ.2563) 'มาร์เก็ตแคปลดลงเหลือ' 24,300.00 ล้านบาท 9,264.52 ล้านบาท 125,867.88 ล้านบาท 892,856.25 ล้านบาท 8,774.74 ล้านบาท 6,014.00 ล้านบาท 3,388.28 ล้านบาท และ 9,576.00 ล้านบาท ตามลำดับ

158290600420

สถานการณ์ดังกล่าวกำลังท้าทาย 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย !' ปี 2563 จะ 'รอด' หรือ 'แย่' เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนการพึ่งพิงธุรกิจภาคบริการสูง เฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของ GDP

สอดคล้องกับความเห็นของ 'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า สถานการณ์ตลาดทุนและเศรษฐกิจทั่วโลกมีแต่ข่าวเชิงลบกระทบ หรือจะให้นิยามว่า 'เลวร้ายสมบูรณ์' โดยเฉพาะการระบาดของ COVID-19 ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนที่จะหยุดการแพร่ระบาด

แน่นอนว่า ธุรกิจแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบก็ต้องเป็น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม สนามบิน และสายการบิน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด COVID-19 ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยหากใช้เวลา 3-6 เดือน มองว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ค่อยเป็นห่วงผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะเชื่อว่ามีสายป่านยาวพอที่จะประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ แต่ที่ห่วงคือผู้ประกอบการรายเล็กและยิ่งเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจะแย่ และเมื่อผู้ประกอบการรายเล็กแย่สิ่งที่ตามมาคือ 'การเลิกจ้างพนักงาน'

'ตามสถิติที่เคยเกิดขึ้น หากสถานการณ์สามารถควบคุมได้หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็ว ดังนั้นคาดว่าครึ่งปีหลังผลประกอบการและราคาหุ้นน่าจะรีบาวด์ได้ เพราะปัจจุบันราคาหุ้นตอบสนองกับข่าวไปมากแล้ว'

'วิกิจ ถิรวรรณรัตน์' ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง (BLS) วิเคราะห์ให้ฟังว่า ประเด็นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นตัว 'กดดัน' เศรษฐกิจทั่วโลกในตอนนี้ และเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงของผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการแพร่ระบาดดังกล่าวจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็น 'ปัจจัยลบ' ที่ยาก และอยู่เหนือการควบคุมได้ ! หากยืดเยื้อเกินกว่า 6 เดือน ก็จะกระทบไปทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่ากระทบในระยะยาว

โดยประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ของ ธุรกิจโรงแรมลดลงและในบางบริษัทมีโอกาสลดลงเกิน 50% และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ของธุรกิจแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายวิจัยฯ ทำประมาณการหุ้นกลุ่มโรงแรมไว้ว่า หุ้น ERW น่าจะได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศมากถึง 80-90% แต่ผู้บริหารบอกว่า บริษัทจะมีกลยุทธ์การรับมือในช่วงโรคระบาด COVID-19 โดยจะปรับแผนการลงทุนให้ระมัดระวังมากขึ้น เลื่อนการลงทุนโครงการที่ไม่จำเป็น และเน้นการลดต้นทุนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน และการบริหารต้นทุนส่วนกลางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ 'ธุรกิจการบิน' บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย บอกว่า ในปี 2563 นอกเหนือจากปัจจัยด้านการแข่งขันตัดราคา และดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินในประเทศที่ยัดคงหดตัวแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีน ส่งผลให้ดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ 'หดตัว' เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

ภายใต้กรอบสมมติฐานว่าการระบาดของ COVID-19 ในจีนจะมีระยะเวลาเพียงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อ 1.จำนวนนักเดินทางจีนที่มาไทยลดลงประมาณ 1.1 ล้านคน 2.จำนวนนักเดินทางไทยที่ไปจีน ลดลงประมาณ 55,000 คน 3.จำนวนนักเดินทางต่างชาติอื่น ๆ ที่มาไทย ลดลงจากประมาณการเดิมประมาณ 320,0000 คน

ทั้งนี้ ในปี 2563 มูลค่าธุรกิจสายการบินจะยังหดตัวลงอีก 4.3-6.2% เหลือมูลค่าแค่ 2.94-3.00 แสนล้านบาท และค่าเฉลี่ยของอัตราบรรทุกผู้โดยสารจะลดลงเหลือ 72.0-73.4% ซึ่งโดยปกติ สายการบินในไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 80% นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดไปประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท !

158290642367

'บิ๊กเอกชน' แห่ลดเป้าเติบโต !

ในปี 2563 การทำธุรกิจ“หนทางเต็มไปด้วยความท้าทาย”โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยว !

'เพชร ไกรนุกูล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW ประเมินสถานการณ์ธุรกิจปี 2563 ว่า รายได้รวมปีนี้จะ 'ลดลง' เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี (นับจากปี 2558) มาจาก “4 ปัจจัยลบ” นั่นคือ เศรษฐกิจชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า การแข่งขันของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูงขึ้น และล่าสุด การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเหตุผลทั้งหมดส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง

'เดือน ก.พ.-มี.ค.2563 ยอดจองห้องพักหดตัวลง 50-60% เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไปมากกว่า 5-6 เดือน รายได้ก็จะลดลงมากกว่าที่คาดไว้อีก'

โดยหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 'ลูกค้าชาวจีน' หายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องกระตุ้นให้คนไทยเข้ามาใช้บริการให้มากขึ้นด้วยการทำโปรโมชั่น และ ลดราคาที่พัก เพื่อดึงดูดลูกค้า และเร็วๆ นี้จะมีงานไทยเที่ยวไทย เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นยอดจองให้กลับมาดีขึ้นได้ และที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับเพิ่มราคาห้องพักเฉลี่ย 3% แต่อาจต้องปรับลดราคาลงเพื่อเพิ่มยอดจอง

อย่างไรก็ตาม ปีนี้มองว่าอัตราการเข้าพัก (OCC) ในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 78% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 73% และ ในประเทศฟิลิปปินส์ OCC อยู่ที่ระดับ 80% จากปีก่อนที่ 82% (ไม่รวมโรงแรมในกลุ่ม HOP INN) สัดส่วนลูกค้าเมื่อเทียบจากรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักพบว่า มาจากคนไทย 20% จีน 12% สหรัฐ 9% และ อินเดีย 5-6%

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 2563 จะมาจากโรงแรมประมาณ 97% (รายได้จากค่าห้องพัก 70% และ รายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 30%) และ มาจากค่าเช่า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค๊อก คิดเป็นรายได้ประมาณ 3% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ การระบาด COVID-19 มีความรุนแรงมากกว่าการระบาดของโรค SARs เมื่อปี 2546 แน่นอน เพราะว่าประเทศที่จุดกำเนิดการระบาด COVID-19 คือ ประเทศจีน ซึ่งเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย ซึ่งปีนี้การท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะ 'ลดลง 9.5%' จากปี 2562 ดังนั้น บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน เพื่อประคองไม่ให้รายได้ลดลงไปมากกว่านี้

'แต่ต้องยอมรับว่าปีนี้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย และผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมจะปรับตัวลดลงมาก โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะเพียงยอดการยกเลิกการจองที่พักเฉลี่ยต่อวันก็หายไปเยอะแล้ว'

โดยในช่วงแรกของการระบาด COVID-19 ประเมินว่า มีผลกระทบใกล้เคียงกับการระบาดของโรค SARs เมื่อปี 2546 ที่กระทบให้จำนวนจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงใช้เวลารวม 5 เดือน โดยเฉพาะ 2 เดือนแรกที่เกิดเหตุการณ์ SARs ซึ่ง RevPar ลดลงแรงราว 40-50% ก่อนกลับมาฟื้นตัวในเดือนที่ 6 เป็นต้นไป แต่สำหรับการระบาด COVID-19 ตอนนี้ความรุนแรงมากกว่า

ในปี 2562 บริษัทมีโรงแรมทั้งหมด 70 แห่ง รวมจำนวนห้องพัก 9,569 ห้อง แบ่งเป็น โรงแรมในประเทศไทย จำนวน 65 โรงแรม ครอบคลุมจังหวัดท่องเที่ยวและเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญทั่วประเทศไทย และโรงแรมในประเทศฟิลิปปินส์ในเมืองมะนิลา จำนวน 5 โรงแรม และปีนี้ได้เปิดให้บริการโรงแรม เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ หลังการพัฒนาปรับปรุงโรงแรมในส่วนสุดท้ายแล้วเสร็จทั้งหมดตามกำหนด

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ จำนวน 17 แห่ง และปีนี้จะเปิดดำเนินการโรงแรมใหม่ ภายใต้แบรนด์ HOP INN จำนวน 7 แห่ง ในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ ปลายปีนี้มีโรงแรม HOP INN รวมจำนวน 50 แห่ง ครอบคลุมใน 37 จังหวัดทั่วทุกภาคในไทย และโรงแรมรวม 77 แห่ง เป็นโรงแรมภายในไทย จำนวน 72 โรง และโรงแรมในฟิลิปปินส์จำนวน 5 แห่ง

'รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์' รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL ยอมรับว่า การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัท โดยเฉพาะรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPar) ที่ลดลง ทำให้บริษัทเตรียมปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้จากเดิม วางเป้าเติบโต 5-6% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์

ทั้งนี้ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจโรงแรม อาหาร ท่องเที่ยว สายการบิน ไม่เว้นแต่การลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทได้รับผลกระทบ ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศลดลง และ การแข่งขันทางด้านราคาของผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

'ไวรัสโควิด-19 หากยืดเยื้อเกินกว่า 6 เดือน จะกระทบไปทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่ากระทบในระยะยาว แต่ในระยะสั้น คือ 3 เดือน หากคุมอยู่ก็คงอยู่ในวงจำกัด แต่ต้องยอมรับว่าไวรัสโควิด-19 ดูรุนแรงกว่าซาร์ส โดยตอนซาร์สเรายังประคองรายได้ให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งเรื่องนี้เราก็เชื่อว่าถ้าผ่านไปได้ ธุรกิจก็กลับมาดีขึ้นได้เช่นกัน'