'แพทยสภา-ศิริราช' เรียกร้องกลุ่มเสี่ยง COVID-19ให้ข้อมูลที่เป็นจริง

'แพทยสภา-ศิริราช' เรียกร้องกลุ่มเสี่ยง COVID-19ให้ข้อมูลที่เป็นจริง

"แพทยสภา-ศิริราช" แถลงเรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัส COVID-19 รับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดให้ข้อมูลที่เป็นจริง

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 63 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ แถลงเรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศขณะนี้ และการเดินทางไปต่างประเทศที่สะดวก รวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง จากการนำเชื้อจากแหล่งระบาดมาแพร่ต่อในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยและสูญเสียอย่างมากตามมา แม้จะคาดกันว่าในที่สุด โรคโควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก แต่ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องการให้การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น มีการชะลอให้ช้าที่สุด มีผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขที่มีสามารถดูแลรองรับผู้ป่วยได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการ รวมทั้งเวลาที่ชะลอได้นี้ จะทำให้เกิดความพร้อมทั้งเครื่องมือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และยามากขึ้น จึงได้มีการขอความร่วมมือให้งดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดในช่วงนี้ และรีบวินิจฉัย แยกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

อ่านข่าว
-ไทยเสี่ยง 'ไวรัสโคโรน่า' (โควิด-19) ระบาดเพิ่มขึ้น

สาเหตุหนึ่งของการระบาด คือ การที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ซึ่งได้แก่ ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดสูง ทั้งจีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมทั้งอิตาลี และอิหร่าน อีกทั้งอาจมีจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยไม่แยกตัวหลังจากเดินทางกลับ ทำให้มีโอกาสไปแพร่เชื้อได้ต่อเนื่อง และไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเมื่อเจ็บป่วย ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ล่าช้า เช่น กรณีผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล แต่ไม่เปิดเผยประวัติการเดินทาง ทำให้บุคคลใกล้ชิดทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทันเตรียมตัวป้องกันการติดต่ออย่างถูกต้อง อันอาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้างต่อ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีประวัติเสี่ยงตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และต่อประเทศชาติ หยุดการแพร่กระจายโรค โดยการแยกตัวจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค หากเจ็บป่วยต้องให้ประวัติที่แท้จริงเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงคำแนะนำสำหรับประชาชน และครอบครัวที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้

1.ผู้ที่เดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน มาเก๊า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี
-แจ้งการเดินทางกลับแก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทางโทรศัพท์ทันทีเพื่อลางาน
-หยุดทำงานหรืออยู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน นับจากเดินทางถึงประเทศไทย
-แยกพื้นที่อาศัย เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ กับผู้อื่น ถ้าเป็นไปได้เลือกอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทดี
-หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ) ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเมื่อต้องใกล้ชิด ให้ใช้หน้ากากอนามัย
-ทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจำอย่างเคร่งครัด
-ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ
-จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ฯลฯ
-หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ชุมชน

2.ผู้ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับกลุ่มที่ 1 ในช่วง 14 วันแรก
-หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้นั้นในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร (โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ)
-ทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจำอย่างเคร่งครัด
-ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้นั้น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ
-ใส่หน้ากากอนามัย ถ้าจำเป็นต้องใกล้ชิดผู้นั้น

3.ทั้งสองกลุ่ม ต้องเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของตนเองและผู้ใกล้ชิด ที่อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ ได้แก่
-อาการไข้ ถ้ารู้สึกว่ามีไข้ ให้ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ว่าอุณหภูมิที่วัดทางปากมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือทางรักแร้มากกว่า 37.0 องศาเซลเซียสหรือไม่
-อาการผิดปกติของทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือหายใจเร็ว
หากผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศต่างๆ ดังกล่าวหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ ข้างต้นทั้ง 2 ข้อ ให้ติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาหรือ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง หรือ สอบถาม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

4.ในกรณีมีเด็กร่วมเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงด้วย
-ให้รีบแจ้งโรงเรียนและหยุดไปเรียน อยู่บ้าน ไม่ไปในสถานที่สาธารณะ สถานรับเลี้ยงเด็ก และไม่ให้เล่นกับเด็กอื่นๆ เป็นเวลา 14 วัน หลังจากเดินทางกลับ
-เด็กๆ อาจไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ก็ไม่เป็นไร แต่ควรเน้นให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ และหากมีอาการเจ็บป่วย ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

5.ในกรณีที่มีเด็กอยู่ร่วมบ้านกับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ควรแยกเด็กให้ห่างออกมา และปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 2 หากมีอาการเจ็บป่วย ต้องให้ข้อมูลการอยู่ร่วมบ้านกับผู้มีความเสี่ยงด้วย เมื่อเดินทางมาพบแพทย์ หรือมาโรงพยาบาล
-หลีกเลี่ยงการเดินทางสาธารณะ และเมื่อเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ
-ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
-ทำความสะอาดมือ ด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ
-เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และไม่สัมผัสผู้อื่นหรือสิ่งของต่างๆ โดยไม่จำเป็น
-แจ้งบุคลากรของโรงพยาบาลทันทีว่า ท่านมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019