‘ปกปิดข้อมูล’ มหันตภัยร้าย เพิ่มเสี่ยง ‘โควิด-19’ ระบาดหนัก

‘ปกปิดข้อมูล’ มหันตภัยร้าย เพิ่มเสี่ยง ‘โควิด-19’ ระบาดหนัก

จากเหตุการณ์ผู้ติดเชื้อที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ด้วยอาการไข้ และไอ มีการ “ปกปิด” ข้อมูลสำคัญ ผลของการปฏิเสธให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นของผู้ติดเชื้อ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ต้องไล่หาเพื่อตรวจสอบ คัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อตามมา

ทันทีที่โรงพยาบาล “บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์“ ออกประกาศพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมเป็นวงกว้าง เหตุเพราะผู้ติดเชื้อที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยอาการไข้ และไอ “ปกปิด” ข้อมูลสำคัญ ไม่ยอมบอกว่า เพิ่งจะเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็น “ประเทศกลุ่มเสี่ยง” ทั้งที่แพทย์ผู้ชำนาญการสอบถามหลายครั้ง หลังตรวจพบอาการปอดอักเสบ

ผลของการปฏิเสธให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นของผู้ติดเชื้อ “ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง” ต้องไล่หาเพื่อตรวจสอบ คัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อตามมา ตั้งแต่เส้นทางการเดินทางว่าไปกับใคร สายการบินอะไร ไฟลท์อะไร ครอบครัว และผู้ที่ใกล้ชิดมีใครบ้าง ยังไม่นับรวมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องตกอยู่ในกลุ่ม “เฝ้าระวัง” แบบไม่ทันตั้งตัว

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อ เป็นชาย อายุ 65 ปี เดินทางพร้อมภรรยา ไปเที่ยวเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ. ที่ผ่านมา โดย ไปเป็นคณะทัวร์ และเดินทางกลับด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไฟลท์ XJ621 เมื่อวันที่ 20 ก.พ.

หลังกลับจากญี่ปุ่นไม่กี่วัน หรือวันที่ 23 ก.พ.ชายดังกล่าวมีไข้ขึ้นสูง จึง Admit เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ย่านสรงประภา เขต ดอนเมือง โดยมี “ภรรยา” เป็นคนนอนเฝ้าไข้ เมื่อแพทย์ซักถามประวัติการเดินทาง ไปต่างประเทศกลับปฏิเสธ เบื้องต้นวินิจฉัยว่าปอดอักเสบ และให้รักษาตัวในโรงพยาบาล 

กระทั่งวันที่ 24 ก.พ. ช่วงเช้าแพทย์ เข้าตรวจอาการ สอบถามสามีผู้สูงอายุ ถึงประวัติการเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง แต่ก็ยังปฏิเสธ ต่อมาในช่วงสายวันเดียวกัน 2 สามีภรรยา จึงยอมรับว่า เดินทางไปต่างประเทศ โรงพยาบาลจึงประสานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และย้ายผู้ป่วยไปที่ห้องความดันลบ และส่งตรวจพีซีอาร์ ก่อนช่วงค่ำตรวจพบเชื้อโควิด-19 หรือผลเป็นบวก จึงถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐ เป็นที่มาให้ “กรมควบคุมโรค” กระทรวงสาธารณสุข ตามหาผู้โดยสารที่เหลือที่ร่วมสายการบินเดียวกัน

จนเป็นเหตุให้สายบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ต้องแจ้งผู้โดยสารทุกคนรับทราบ พร้อมประกาศให้ลูกเรือในเที่ยวบินดังกล่าว “หยุดงาน” เป็นเวลา 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ

นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประมาณ 30-40 คน ถูกส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นผลตรวจเป็นลบ แต่ให้หยุดงานสังเกตอาการที่บ้าน พร้อมทำความสะอาดและงดรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล

เช่นเดียวกับคนในครอบครัวของผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีลูกชาย และหลาน 2 คน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพราะเป็นบุคคลใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้ลูกชาย ซึ่งทำงานอยู่ในธนาคารทีเอ็มบีธนชาต สาขาดอนเมือง ก็ออกไปทำงานตามปกติ ขณะที่หลานทั้ง 2 คน ก็เดินทางไปโรงเรียนตามปกติเช่นเดียวกัน

หลังเรื่องนี้ถูกเปิดเผย ธนาคารทีเอ็มบีธนชาตสั่งปิดสาขาดอนเมืองเป็นการชั่วคราว แม้ตัวพนักงานซึ่งเป็นลูกชายของผู้ติดเชื้อไปตรวจสุขภาพและได้รับการยืนยันว่าไม่ติดเชื้อไวรัส แต่ธนาคารก็ให้หยุดงานและแยกตัวเองเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน

ฝั่งของหลาน ซึ่งมีอายุ 3 ขวบ และ 8 ขวบ เรียนอยู่โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง ย่านดอนเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัส ทางโรงเรียนจึงประกาศ ปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. ถึงวันที่ 9 มี.ค. ขณะที่สำนักงานเขตดอนเมือง ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค ระดมเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง ย่านดอนเมือง เพื่อป้องกันหากมีการแพร่เชื้อในโรงเรียน

ล่าสุด ผลตรวจสุขภาพหลานที่อายุ 8 ขวบ “ผลเป็นบวก” ส่งผลต้องไปอยู่โรงพยาบาลบำราศนราดูรกับคุณย่า (ภรรยาผู้ติดเชื้อ) ซึ่งผลตรวจเป็นบวกเช่นกัน

จากกรณีนี้ ทำให้คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การไม่ยอมเปิดเผยประวัติที่แท้จริงกับผู้บังคับบัญชา หรือบุคลากรทางการแพทย์หลังมีโอกาสสัมผัสโรค เช่น การเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมถึงอิตาลี และอิหร่าน หรือเมื่อมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก แล้วไปรับการรักษาในสถานพยาบาล แต่ไม่ยอมเปิดเผยประวัติที่แท้จริง ทำให้บุคคลใกล้ชิดทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทันเตรียมตัวป้องกันการติดต่อที่ถูกต้อง อาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง

จึงต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้มีประวัติเสี่ยง ตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ โดยการให้ประวัติที่แท้จริง เมื่อเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

โดยวันนี้ (27 ก.พ.) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวเรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง 

ขณะที่กองทัพอากาศ (ทอ.) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้มีคำสั่งและให้ออกประกาศเพื่อความปลอดภัย และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ทหารและกำลังพลทั้งหมดทุกหน่วยขึ้นตรงของกองทัพอากาศ สวมหน้ากากอนามัยและรักษาความสะอาด ด้วยการล้างมือบ่อยครั้ง และแจ้งเตือนบุคคลใกล้ชิดและครอบครัวให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับอีกหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ “ตื่นตัว” ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสมหาภัยเข้มข้นขึ้น ด้วยการออกประกาศเป็นแนวปฏิบัติให้พนักงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง “งด” การเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง ล่าสุดปลัดกระทรวงการคลังลงนามในประกาศแจ้งไปยังหัวหน้าส่วนราชการ สังกัดกระทรวงการคลัง ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ โดยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19

กรณีได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้เดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาด ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณายกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางออกไปให้พ้นช่วงการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว หากกรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินทาง ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาเป็นรายกรณีและเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วัน เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว