คลังยันกฎหมายที่ดินฯไม่ยกเลิกบังคับใช้

คลังยันกฎหมายที่ดินฯไม่ยกเลิกบังคับใช้

คลังยันกฎหมายที่ดินมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เพียงแต่ให้เวลาเจ้าหน้าที่เตรียมตัวจึงเลื่อนการจัดเก็บเป็นปลายเดือนส.ค.จากมี.ค. เผยกฎหมายลูกเกือบทุกฉบับมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน เหลือเพียง 2 ฉบับรอลงราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร เลขานุการกรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)​กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและกฎหมายลูกที่ประชาชนควรรู้ในงานสัมมนาหัวข้อไขข้อข้องใจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและสมาคมการค้าเครือข่าย โดยระบุว่า ขณะนี้ ถือว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เพียงแต่เลื่อนระยะเวลาการจัดเก็บภาษีจาก 13 มี.ค.เป็นวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีเวลาเตรียมตัวในการจัดเก็บ โดยในส่วนของกฎหมายลูกก็ดำเนินการแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด มีเพียง 2 ฉบับที่รอลงราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ดังนั้น จึงย้ำให้ทราบว่า กฎหมายฉบับนี้ ยังเดินหน้าในการบังคับใช้ต่อไป และ ไม่มีการยกเลิก

"กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือว่ามีผลบังคับใช้100% ฉะนั้น ภาระภาษีตามกฎหมายมีผลแล้ว ดังนั้น ข่าวลือเรื่องการเลื่อนบังคับใช้ไม่เป็นจริง แต่ที่เลื่อนการจัดเก็บ เพื่อขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมพร้อมเท่านั้น ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อเลื่อนการจัดเก็บตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วปร​ะชาชนต้องเสียภาษีตามกฎหมายโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่หรือไม่ ตอบว่า ไม่ต้อง เพราะกฎหมาย 2 ฉบับถูกยกเลิกแล้ว แต่คนที่ไม่เคยจ่ายเลย กฎหมายภาษีที่ดินฯกำหนดให้เก็บย้อนหลังไม่ถึง 10 ปี"

เขาระบุว่า เหตุที่ต้องนำกฎหมายภาษีที่ดินฯ เพราะกฎหมาย 2 ฉบับเดิมมีข้อบกพร่องอยู่มาก โดยถูกใช้มานานเกือบ 100 ปี ทำให้ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่าง กฎหมายโรงเรือนและที่ดินนั้น อัตราภาษีสูงมากที่ 12.5% เป็นภาระผู้ประกอบการ ซ้ำยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีช่องให้เกิดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการต่อรอง ยกตัวอย่าง มีห้อง 2 ห้องให้เช่าในราคาต่างกัน ทำให้เสียภาษีไม่เป็นธรรมเปิดโอกาสใช้ดุลพินิจ ขณะที่ ภาษีบำรุงท้องที่นั้น ใช้ราคาประเมินเดิมในปี 2521-2524 เป็นฐานในการประเมินภาษี จึงไม่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

"เราใช้เวลาในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2526 พร้อมกับ การนำระบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ แต่ทุกครั้งที่เสนอก็ได้รับการคัดค้านมาโดยตลอด แต่ที่สุดกฎหมายภาษีที่ดินฯก็มีผลบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของผู้เสียภาษี นอกจากนี้ ยังทำให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้า ผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้ไปยื่นประเมินภาษี แต่ต่อไปทางเจ้าหน้าที่จะส่งใบประเมินไปเอง ทำให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะเห็นว่า ภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินที่ไม่มีการตั้งโรงเรือนเก็บได้เพียง 900 ล้านบาทเท่านั้น"

สำหรับหลักการในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ คือ จะจัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ดังนั้น จึงกำหนดให้จัดเก็บจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ก่อบนที่ดิน ฉะนั้น อะไรที่ไม่ใช่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ต้องเสีย เช่น เครื่องจักร เครื่องประดับใดๆ เสาสัญญาณโทรศัพท์ บนที่ดิน ไม่เข้าข่ายเสียภาษี ทั้งนี้ ฐานภาษี จะคิดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยกรมธนารักษ์เป็นผู้ประเมิน ช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบและคัดค้านได้ ส่วนสิ่งปลูกสร้างนั้น จะมีแบบมาตรฐานในการจัดเก็บ

ส่วนใครจะเป็นผู้เสียภาษี กฎหมายกำหนดให้เจ้าของเท่านั้นที่เป็นผู้เสียภาษี ดังนั้น ใครเป็นเจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง จะต้องเป็นผู้เสียภาษี กรณีมีชื่อหลายคนในทรัพย์สิน กฎหมายกำหนดให้คนที่มีชื่อคนแรกเป็นผู้เสียภาษี นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดว่า ผู้ครอบครองที่ดินของรัฐต้องเป็นผู้เสียภาษี ซึ่งรวมถึง ผู้บุกรุกด้วย สำหรับผู้มีหน้าที่จัดเก็บ คือ ท้องถิ่น

ทั้งนี้ ภาระภาษีที่ต้องเสียนั้น จะดูจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีไม่ใช้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีกรณีรกร้างว่างเปล่า กรณีใช้ประโยชน์ที่ดิน จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย และ อื่นๆ ส่วนอัตราจัดเก็บจะเน้นดูแลคนกลุ่มใหญ่เช่น เกษตรกรรม และ ที่อยู่อาศัย ทั้งสองกลุ่มเสียภาษีอัตราต่ำ ส่วนกลุ่มอื่นๆ อาจมีคนเอาที่ดินรกร้างมาทำการเกษตรเพื่อเลี่ยงภาษี กฎกมายลูกจะกำหนด ใครทำการเกษตรเท่าไหร่ก็เสียภาษีเท่านั้น ส่วนกรณีที่อยู่อาศัยนั้น อะไรก็ตามที่ใช้เพื่อที่อยู่อาศัยก็เก็บตามอัตราที่อยู่อาศัย คำถาม คือ ถ้าเป็นโรงแรม ที่พัก จะคิดอย่างไร กฎหมายกำหนดว่า ที่พักรายวัน จะถือเป็นอื่นๆ ถ้าเป็นรายเดือนขึ้นไปจะถือเป็นที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ เพดานอัตราภาษีที่จัดเก็บนั้น กรณีเกษตรกรรมสูงสุดไม่เกิน 0.15% กรณีที่อยู่อาศัยสูงสุดไม่เกิน 0.3% และ อื่นๆเก็บไม่เกิน 1.2% แต่อัตราจัดเก็บจริงต่ำกว่านั้น ยกตัวอย่าง เกษตรกรรมราคา 0-75 ล้าน เสียแค่ 0.01% บ้านพักอาศัยเสียล้านละ 100 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้รับการยกเว้นสำหรับมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทด้วย แต่กรณีรกร้างจะต้องเสียภาษีตามเกณฑ์กำหนด