ห้างฯ ขานรับ ลด, งด ถุงหิ้วพลาสติก I Green Pulse

ห้างฯ ขานรับ ลด, งด ถุงหิ้วพลาสติก I Green Pulse

แม้จะไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าสามารถทำสำเร็จแล้ว 100% เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ และจากระยะเวลาเพียงเดือนกว่าที่อาจมองได้ว่า เร็วเกินไปที่จะประเมินความสำเร็จ

หากตัวแทนห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อ ในฐานะที่เป็นสวนหนึ่งของผู้กระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค ต่างก็พูดเป็นทำนองเดียวกันกับภาครัฐและภาคประชาชนว่า เสียงตอบรับในการรณรงค์งดให้/ใช้ถุงหิ้วพลาสติกตามห้างฯและร้านสะดวกซื้อ “เกินความคาดหมาย” และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น หรือ “kickstart” ของทิศทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติกของประเทศในอนาคต

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การนำของ รมว.ทส. นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ได้ทำสิ่งที่หลายๆ คนไม่คาดคิดและตั้งตัว คือการประกาศงดให้/ใช้ถุงหิ้วพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บเร็วขึ้นกว่าแผนที่วางไว้ถึง 1 ปี โดยหยิบยกเอาเหตุการณ์ความสูญเสียลูกพะยูนกำพร้า “มาเรียม” และสัตว์ป่าอีกหลายตัวที่ตายเพราะพลาสติกในปีที่แล้ว มาเป็นเหตุผลผลักดันการรณรงค์ในครั้งนี้

เพียงเวลาเดือนกว่า นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีการรณรงค์ “Everyone Says No to Plastics Bags” ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อกว่า 90 รายให้ความร่วมมือ สามารถช่วยลดการใช้ถุงหิ้วฯ ไปได้ถึง 3, 750 ล้านใบ และนั่นหมายถึงปริมาณขยะเกิน 1 ใน 4 ที่จะเกิดจากถุงหิ้วฯ ที่เกิดจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆทั่วประเทศในแต่ละปี (ราว 13,500 ล้านใบ หรือราว 30% ของถุงฯ ทั้งหมดที่ใช้ในประเทศคือ 45,000 ล้านใบ) ที่สามารถขจัดออกไปจากระบบได้แล้ว

ความสำเร็จที่เกินคาดหมายนี้ จึงทำให้ ทส. และหน่วยงานใต้สังกัดคือกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ไปสู่การขยับขยายแคมเปญในอีกสองภาคส่วนที่ผลิตถุงฯ ที่เหลือคือ ร้านขายของชำและตลาด ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันแล้วถึง 70% และการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติกเพื่อกำกับดูแลขยะพลาสติกในประเทศในภาพรวมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษในส่วนของภาคประชาชนมองว่า เริ่มต้นได้ดีและกำลังมาถูกทางแล้ว

งดแจก “ถุงฯหูหิ้ว” สู่การจัดการขยะพลาสติกยั่งยืน

158228943893

ในส่วนของภาคเอกชน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ระบุว่า ทางภาคธุรกิจได้ทำแคมเปญการลด/งดใช้ถุงฯพลาสติกมาก่อนหน้านี้ไม่ตำ่กว่า 10 ปี แต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้เนื่องจากการตื่นตัวของตนในสังคมยังน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ห้างฯและร้านสะดวกซื้อหลายรายได้ทำแคมเปญของตน และเริ่มเดินมาในทิศทางเดียวกันเมื่อมีการร่วมประชุมกับทางภาครัฐเมื่อปีที่ผ่านมา และเริ่มมีการทดลองลดการใช้ถุงหิ้วฯ ทุกวันที่ 4 ของเดือน ก่อนที่จะมีบางรายขยายมาเป็นทุกวันอังคารและวันพุธ อาทิ ห้างฯ เดอะมอลล์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อต้องเริ่มโครงการจริงๆ สมาคมฯ ยอมรับว่า ค่อนข้างกระชั้นชิดเพราะได้มีการขยับจากแผนฯมา 1 ปี แล้วลงมือปฏิบัติเลย ซึ่งในช่วงเวลาแรก มีความกังวลในแง่ผู้บริโภคอาจไม่เข้าใจและให้ความร่วมมือเท่าที่ควร

“จริงๆ อาจต้องเริ่มจากกการบอกกล่าวกันก่อน รณรงค์ให้เป็นที่รับรู้กันก่อน แต่เราอาจใช้ไม้แข็งไปนิด เพราะถ้าเป็นในต่างประเทศ อาจใช้เวลารณรงค์ทำความเข้าใจกันถึง2-3ปี ก่อนที่จะลงมือทำกันจริงๆ” คมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการฯ กลับได้รับการตอบรับเหนือความคาดหมาย ซึ่งนายคมสันกล่าวว่า ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการตายของสัตว์ต่างๆเนื่องจากพลาสติก ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น

นายคมสันกล่าวว่า ในกระแสตอบรับ อาจมีอีกประมาณ 2-3% ที่ยังไม่ได้งดการใช้ถุงหิ้วฯ ซึ่งทางภาคเอกชนก็ได้จัดเตรียมทางเลือกเอาไว้ และการให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐไม่ได้เป็นภาระแก่ภาคเอกชนอย่างที่มีกระแสว่าเกิดผลกระทบต่อยอดขายจนทำให้ต้องกลับมาแจกถุงพลาสติกแต่อย่างใด

ในมุมมองของสมาคมฯ กลับมองว่า การหันกลับไปแจกถุงฯ reusable แทน อย่างที่บางรายเสนอ อาจส่งผลให้การรณรงค์ในโครงการฯ “สูญเปล่า” และเป็นสิ่งที่ต้องไตร่ตรองให้ดี

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ และสมาชิกจะยังคงเดินหน้ารณรงค์การงดให้/ใช้ถุงฯ ในเครือข่าย ซึ่งมีมากถึงกว่า 24,500 แห่ง ทั่วประเทศ โดยนายคมสัน เสนอให้มีการขยายผลไปยังเป้าหมายอื่นที่เหลืออย่างตลาดและร้านค้าของชำ

ในส่วนของแผนระยะยาวในการจัดการขยะพลาสติก สมาคมมองว่า การรณรงค์อาจเป็นแนวทางตัวอย่างที่จะพัฒนาไปสู่แนวทางระยะยาวดังกล่าว โดยอาจไม่จำเป็นต้องร่างเป็นกฎหมายบังคับใช้แต่อย่างใด หรือถ้ามี ควรเป็นแนวส่งเสริมมากกว่าการบังคับใช้

นายพัฒนา สุธีระกุลชัย ผู้อำนวยการบริหารสมาคมกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือความตระหนักของผู้บริโถค ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายหรือกลุ่มที่ทำงานรณรงค์ในส่วนของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกัน ซึ่งหากประชาชนมีความตระหนัก กฎหมายอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น

“Circular Economy ไม่ใช่หมายถึงการกันคนออกไปจากปัญหา แล้วพยายามทำยังไงก็ได้ที่เอาพลาสติกออกไปจากระบบ ซึ่งเราก็จะไม่ใช่แค่สั่งให้เลิกใช้พลาสติกกันอย่างเดียว แต่เป็นการเอาคนมาจัดการด้วย,” นายพัฒนากล่าว

“การแก้ปัญหาเหล่านี้มันต้องดูในภาพรวมด้วย ไม่ได้แยกส่วน ตอนนี้มันอาจจะเร็วไปที่จะบอกว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ หลังจากที่เราเริ่มโครงการรณรงค์ ก็เท่ากับว่าทุกคนเข้ามาอยู่ในโรดแมพละ จะเดินต่ออย่างไร คงต้องรอดูอีกซัก 3-6 เดือน

“อย่างน้อย โครงการฯ ก็ทำให้พฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน เราภาคเอกชนก็เริ่มปรับตัวเช่นกัน เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ปฏิเสธถุงหิ้วฯ ของผู้บริโภคด้วย” นายคมสันกล่าว

158228947056

ทางด้าน เทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่เริ่มรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2553 กล่าวว่า ได้ให้ความร่วมมือในโครงการฯ โดย งดให้ถุงฯ ในร้านค้ากว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมโดยได้จัดทำแคมเปญสื่อสารล่วงหน้าแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ลูกค้าส่วนมากรับทราบและมีการเตรียมตัวนำถุงผ้ามาช้อปปิ้ง เนื่องจากเทสโก้ โลตัสมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าในหลายสื่อ เช่น คลิปวิดีโอต่างๆ ป้ายหน้าสาขา สื่อโซเชียลมีเดีย

“แม้ยังมีลูกค้าบางท่านที่ลืมนำถุงส่วนตัวมา แต่เราก็มีการเตรียมทางเลือกเอาไว้ให้ อาทิ ‘ถุงคืนชีพ’ ส่วนลูกค้าจำนวนน้อยที่ขาดความเข้าใจ ก็ต้องอาศัยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” นางสาวสลิลลากล่าว

“โครงการฯ สามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทยได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากงดให้ถุงพลาสติกในทุกสาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือ การสร้างความเข้าใจว่าพลาสติกยังมีความจำเป็นสำหรับสินค้าบางอย่าง แต่สิ่งสำคัญคือการใช้พลาสติกซ้ำอย่างคุ้มค่าและนำไปรีไซเคิลให้ถูกวิธี ซึ่งเทสโก้ โลตัส มีถุงคืนชีพมาตอบโจทย์นี้"

เทสโก้ โลตัส ระบุว่า ยืนยันจะร่วมโครงการต่อไป เพื่อเดินหน้าลดขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเห็นว่า จำเป็นต้องขับเคลื่อนในระดับอุตสาหกรรม

นอกเหนือจากค้าปลีกสมัยใหม่แล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถร่วมโครงการได้ในอนาคต เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นางสาวสลิลลากล่าว

ในด้านผู้บริโภค นางสาวสลิลลากล่าวว่า ควรมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนมีการตระหนักรู้ และต้องการมีส่วนร่วมในการลดขยะพลาสติกและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ 3R คือ Reduce ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ และ Recycle

นอกจากนั้น การสร้างพฤติกรรมแยกขยะแบบถูกต้อง จะช่วยลดปริมาณขยะและช่วยให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดขยะที่ปลายทาง ทั้งนี้ เทสโก้ โลตัสมีตู้อัตโนมัติ Reverse Vending Machine รับขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล และ จะยังคงเดินหน้าในการลดการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ รวมทั้งเพิ่มจุดรับรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

ส่วนในเรื่องของข้อกฎหมาย นางสาวสลิลลากล่าวว่า จะมีส่วนช่วยให้มีความชัดเจนและมีการบังคับใช้ได้ในวงกว้างและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

158228957999

ทางด้าน ซีพี ออลล์ ได้ขานรับนโยบายฯนี้เช่นกัน โดย ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ พร้อมขอเชิญชวนลูกค้านำถุงผ้ามาใช้แทนถุงพลาสติกหรือวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระบุสินค้าผ่อนผันที่ยังสามารถใช้ถุงพลาสติกได้ อาทิ ของร้อน อาหารเปียกเนื้อสัตว์ และผลไม้

สำหรับโครงการ “รวมพลังคนไทย เลิกใช้ถุงพลาสติก”ปี 2563 ซีพี ออลล์ ยังคงนำเงินที่ได้จากการลดใช้ถุงพลาสติกภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นไปสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดานทั่วประเทศและโรงพยาบาลศิริราชต่อไป