เอกฉันท์ 549 เสียง เห็นชอบพิธีสารฯ ระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจอาเซียน

เอกฉันท์ 549 เสียง เห็นชอบพิธีสารฯ ระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจอาเซียน

สภาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 549 เสียงเห็นชอบพิธีสารฯ กลไกระงับข้อพิพาททางอ ด้าน "ส.ส." แนะ ก.พณ. หาวิธีปลดล็อคกลไก กีดกัน เกษตรกรรายย่อย ส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศปลายทาง

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งมี นายชวน หลีกภีย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ลงมติเห็นชอบพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียงข้างมาก 549 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง 9 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายพร้อมแสดงความเห็นสนับสนุนพิธีสารฉบับดังกล่าว พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามพิธีสารดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจอาเซียนต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ดังนั้นหากสามารถตั้งหน่วยงานด้านกฎหมายเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามพิธีสารฉบับดังกล่าวได้โดยไม่มีปัญหา นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้กลุ่มประเทศอาเซียนตั้งศาลเพื่อพิจารณาคดีของกลุ่มประเทศอาเซียน และให้หน่วยงานของรัฐบาลคำนึงถึงการสร้างประโยชน์กับประชาชนทุกระดับ

ทั้งนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ หากผลตัดสินขออนุญาโตตุลาการ แต่ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่เห็นด้วยจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้มองว่าพิธีสารดังกล่าวมีประเด็นที่ทำให้ประเทศไม่สามารถค้าขายได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศควรพิจารณารายละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่แค่ขยายเวลาที่จะนำรายละเอียดเข้าสภาฯ​ให้พิจารณาหรือเห็นชอบเท่านั้น ซึ่งตนขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด หากไม่สามารถทำได้ เตรียมตัวถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุที่ทำให้ประเทศไม่สามารถค้าขายได้ ขณะที่การระงับข้อพิพาทตามประชาคมอาเซียน หากพิจารณาตามเนื้อหาของพิธีสาร อาจต้องใช้หลักเกรงใจ​เพื่อระงับข้อพิพาท

ขณะที่ นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ผู้ประกอบการที่ไม่มีกำลังคนไทยไม่สามารถช่วยตนเองได้จำนวนมาก เช่นกรณีที่ผู้ประกอบการชาวสวน ที่มีประเด็นกับล้งขนาดใหญ่ ที่ทำไม่สามารถส่งผลไม้ที่มีคุณภาพไปไม่ถึงประเทศที่ต้องการส่งออกได้ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาถึงการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายย่อย เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โอท็อป ที่เจอปัญหา เพราะพิธีสารฯ ที่ให้รัฐสภา พิจารณานั้นยังไม่เห็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากพิธีสาร บังคับให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ให้สามารถส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้ เชื่อว่าจะเพิ่มจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้นได้

"พิธีสาร ระบุว่ามีปัญหาจะแก้อย่างไร แต่ผมต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐคิดเชิงรุกเพื่อให้กรอบพิธีสาร ใช้เชิงรุก ป้องกันและแก้ปัญหาล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรรายย่อย ได้รับประโยชน์เมื่อเปิดประเทศอาเซียน ขณะเดียวกันการส่งสินค้าไปยังประเทศจีนถูกบังคับโดยกรอบข้อตกลงว่าด้วย จีเอ็มพี ที่ทำให้เกษตรกรตัวน้อยไม่ได้รับประโยชน์ ดังนั้นขอให้พิจารณาเพื่อให้เนื้อหาเกิดประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น และไม่ใช่ให้พิธีสาร เกิดประโยชน์เมื่อเกิดข้อพิพาท และรายใหญ่ได้รับประโยชน์เท่านั้น " นายกนก อภิปราย

ขณะที่ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยยืนยันว่ากรณีที่กังวลว่าหากกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นพิธีสารฯ สามารถใช้ตอบโต้ ขณะที่การพิจารณาเนื้อหาของพิธีสารฯ ดังกล่าวไม่มีความขัดแย้งใดๆของหน่วยงาน