บุคลากรทางการแพทย์ไทย ติด 'ไวรัสโคโรน่า 2019' รายแรก

บุคลากรทางการแพทย์ไทย ติด 'ไวรัสโคโรน่า 2019' รายแรก

ไทยพบผู้ป่วยยืนยันติดไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่ม 1 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพศหญิง ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อมาก่อน เฝ้าระวังอีก 24 ราย

วันที่ 15 ก.พ.2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย คนไทยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพศหญิง อายุ 35 ปี โดยเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จึงอยู่ในระบบเฝ้าระวังมาตั้งแต่ต้น เมื่อมีอาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจ จึงรับเข้ารักษาในห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร และผลตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้ผลเป็นบวก

ขณะนี้รักษาอยู่ในห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลอื่น เนื่องจากต้องให้การดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่เฉพาะกรณีโรคนี้เท่านั้น แต่รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น วัณโรค  ที่ผ่านมาจึงไดัมีการติดตามและตรวจอาการบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดไวรัสโคโรน่า รวม 24 ราย ปัจจุบันยังไม่มีอาการป่วยและตรวจไม่พบเชื้อ

ขณะที่ผู้ป่วยยืนยันรายล่าสุด พักอยู่ที่พักตามลำพัง จึงไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เป็นคนในครอบครัวเพิ่มเติม


158174353672

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายดีแล้วกลับบ้านได้อีก 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 56 ปี ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสม34 ราย หายดีกลับบ้านได้แล้ว 14 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 20 ราย ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นตามลำดับ เว้น คนไทย 2 ราย ที่มีอาการหนักตั้งแต่แรกรับ โดยรายที่มีภาวะวิกฤติทางระบบทางเดินหายใจ 1 รายทีมแพทย์ได้พิจารณาใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจปกติ ส่วนอีกรายที่มีวัณโรคร่วมไม่ได้ใช้เครื่องช่วยพยุงปอด และทั้ง 2 รายได้รับการรักษาเพิ่มเติมด้วยการรับน้ำเลือดจากผู้ป่วยที่หายดีไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งแพทย์กำลังพิจารณาให้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อช่วยในการรักษา ขณะนี้ถือว่าอาการผู้ป่วย 2 รายยังทรงตัว อัตราแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือดดีขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขอเน้นย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด 

"คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน มีรายงานเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าตั้งแต่มีการระบาดของโรคจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 มีบุคลากรทางการแพทย์ของจีน ที่มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อ 1,716 ราย คิดเป็น 3.8%ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และมีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 6 ราย คิดเป็น 0.4%ของผู้ที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขอเน้นย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกราย ทุกระดับ ทุกโรงพยาบาลที่ต้องให้บริการผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ จัดและใช้อุปกรณ์ป้องกันให้เหมาะสม" นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว