'โคโรน่า' สะเทือนบริษัทญี่ปุ่น ฐานผลิตในไทยเสี่ยงขาดวัตถุดิบ

'โคโรน่า' สะเทือนบริษัทญี่ปุ่น  ฐานผลิตในไทยเสี่ยงขาดวัตถุดิบ

เจโทร-หอการค้าญี่ปุ่น เปิดผลสำรวจผลกระทบไวรัสโคโรน่าระบาดต่อบริษัทญี่ปุ่นในไทย พบได้รับผลกระทบ 60% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากชิ้นส่วน วัตถุดิบจากจีนเข้ามาในไทยยาก มีโอกาสขาดแคลน เร่งหาแหล่งนำเข้าใหม่

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ รายงานผลการสำรวจเร่งด่วนเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 25019 (COVID-19) ที่ได้จากการสำรวจสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ 40 ราย วันที่ 5-13 ก.พ.2563

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้ส่งแบบสอบถามไปให้สมาชิก 47 บริษัท มีผู้ตอบแบบสอบถาม 40 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 85.1% แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต 21 บริษัท และอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่ภาคการผลิต 19 บริษัท

ผลการสำรวจประเด็นผลกระทบต่อผลประกอบการจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าจะมีผลกระทบบ้าง มีสัดส่วน 50% รองลงมาตอบว่าขณะนี้ยังไม่ทราบถึงผลกระทบ 23% ไม่ได้รับผลกระทบ 15% มีผลกระทบเชิงลบอย่างมาก (ส่งผลต่อดุลบัญชีประมาณ 5% ขึ้นไป) 10% และมีผลกระทบเชิงบวกบ้าง 3% ซึ่งเมื่อรวมบริษัทที่ได้รับผลกระทบบ้าง และผลกระทบมากมีสัดส่วนถึง 60% 

ประเด็นการระบาดส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างไร ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าปริมาณยอดขายลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 60% รองลงมาตอบว่าการจัดหาชิ้นส่วน วัตถุดิบ วัตถุดิบขั้นกลาง และสินค้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนล่าช้าและยากลำบากมากขึ้น 55% 

ในขณะที่ตอบว่าปริมาณชิ้นส่วน วัตถุดิบ และวัตถุดิบขั้นกลางที่ส่งออกไปยังประเทศจีนลดลงมี 25% การบริโภคชะลอตัวอันเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในไทยลดลงมี 25% ยอดขายสินค้าสำเร็จรูปของบริษัทลดลงเนื่องจากการชะลอตัวของตลาดจีนมี 23%

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ตอบว่าอื่นๆ มีสัดส่วนสูงถึง 23% โดยผลกระทบในส่วนนี้ ได้แก่ การผลิตลดลงจากจัดหาชิ้นส่วนต่างๆจากจีนของลูกค้าเป็นไปอย่างยากลำบาก ความต้องการเงินทุนที่ลดลงตามผลประกอบการของลูกค้าที่แย่ลง การลดค่าใช้จ่ายจากเศรษฐกิจชะลอตัว และการเคลื่อนย้ายของสินค้าลดลง

ส่วนผู้ที่ตอบแบบสอบถามว่าการจัดหาชิ้นส่วน วัตถุดิบ วัตถุดิบขั้นกลาง และสินค้าสำเร็จรูปจากจีนล่าช้าและยากลำบากมากขึ้น บริษัทเหล่านี้มองว่าในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบ สินค้าทดแทนจากจีนได้ 

158168768098

และเมื่อถามว่าจะมีสต็อกสินค้ารองรับได้เพียงไรและจะส่งผลกระทบต่อบริษัทเมื่อไร ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าจะกระทบในเดือน ก.พ.นี้ 35% ส่วนเดือน มี.ค.มีผู้ตอบ 35% และเดือน เม.ย.มีผู้ตอบ 13% 

ด้านการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กำลังพิจารณาจัดหาวัตถุดิบ และสินค้าจากประเทศอื่นนอกจากนี้ มีสัดส่วน 78% รองลงมากำลังพิจารณาจัดหาวัตถุดิบ และสินค้าจากโรงงานอื่นในจีน 17% ขณะนี้ยังไม่ทรายที่จะจัดหาวัตถุดิบทดแทนจากที่ไหน 17% และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดหาวัตถุดิบ สินค้าจากไทยหรือประเทศอื่นเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน 4%

การสำรวจที่ผ่านมา พบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยนำเข้าชิ้นส่วน และวัตถุดิบจากจีนเพียง 5.2% และส่วนใหญ่ 60.8% จะใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบในไทย ซึ่งถึงแม้จะซื้อจากจีน 5.2% แต่ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะบางชิ้นส่วนที่นำเข้าจากจีนมีความสำคัญ หากขาดแคลนจะกระทบต่อการผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้ 

แต่ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นหยุดการผลิต และบางส่วนก็หาทางออกโดยนำเข้าทางอากาศ โรงงานในจีนบางส่วนก็กลับมาผลิตแล้ว โดยยังคาดว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาจะไม่ยืดเยื้อ และโรงงานในจีนจะกลับมาผลิตได้ในเร็วๆนี้ 

ในขณะที่ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นจะกระทบเอสเอ็มอีญี่ปุ่นรุนแรงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และผลกระทบในแต่ละบริษัทก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องสำรวจรายละเอียดเพิ่มขึ้น โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไวรัสโคโรนา มาจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในไทยลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่ใหญ่ หลายบริษัทมองว่าในเรื่องนี้เป็นผลกระทบเชิงลบ ซึ่งหวังว่าปัญหานี้จะไม่ขยายวงกว้าง 

"แต่ผลสำรวจยังไม่สามารถตอบทุกอย่างได้ชัดเจน เพราะปัญหาพึ่งเกิด จึงขอเวลาอีก 1 เดือน ในการสำรวจใหม่เพื่อประเมินผลกระทบที่ชัดเจน

สำหรับประเด็นผลกระทบด้านบวกจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 75% มองว่าไม่มีผลกระทบเชิงบวก รองลงมามีการผลิตสินค้า ชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่างๆในประเทศไทยเพื่อทดแทนการผลิตในจีน 10% 

รวมถึงมีผู้ตอบว่าความต้องการสินค้าอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มมากขึ้น 3% โดยผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนมองว่ากระทบชั่วคราวจากการหยุดผลิตของบริษัทจีน ซึ่งจะโอกาสการจำหน่ายสินค้าทดแทนสินค้าซัพพลายเออร์จากจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสทางธุรกิจจากการเร่งย้ายกำลังการผลิตออกจากจีนมีมากขึ้น