วันรักนกเงือก ถึง 'นกเงือก' ที่รัก(ษ์)

วันรักนกเงือก ถึง 'นกเงือก' ที่รัก(ษ์)

บอกเล่าสถานการณ์ "นกเงือก" ใน "วันรักนกเงือก" 13 กุมภาพันธ์ ที่แม้วงสนทนานี้จะผ่านมาหลายปี แต่เหตุการณ์ของนักปลูกป่าแห่งพงไพรนั้นยังคงอันตรายเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“นกเงือก” ถือเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ถูกคุกคามจากการล่า และรบกวนถิ่นอาศัย ถึงแม้จะถูกจัดให้อยู่ในหมวดของ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” แต่สถานการณ์ ตลอดจนความเสี่ยงของประชากรนกเงือกก็ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอยู่ 

นอกจากการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 แล้ว ยังได้มีการกำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้สร้างความตระหนักเป็นประจำทุกปี 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “มารดาแห่งนกเงือก” ออกมาเผยถึงความเคลื่อนไหวในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกตลอด 30 ปีที่ผ่านมาในวงเสวนาส่วนหนึ่งของกิจกรรม “รวมใจให้นกเงือก” ธีมงานวันรักนกเงือกประจำปีนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ สวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา 

ดร.พิไลเล่าว่า โครงการนกเงือกมีพื้นที่ศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น 3 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้มีนกเงือกได้ครอบคลุมทั้ง 13 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย เท่ากับประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในแถบประเทศอาเซียนด้วย

“สำหรับสถานการณ์นกเงือก ปี 2559 นั้นค่อนข้างมีปัญหา เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้อาหารขาดแคลน นกเงือกจึงไม่ค่อยเข้ารัง ส่งผลให้มีอัตราการขยายพันธุ์น้อย แต่ในปี 2560 สถานการณ์ดีขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2559 ในพื้นที่ศึกษาเขาใหญ่ มีนกเงือกเข้าไปทำรังเพียง 9 รัง แต่ปี 2560 มีถึง 33 รัง ทั้งนี้ โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เป็นทีมงานแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการใช้โพรงเทียม”

158150139213

  • อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ชะตากรรม 'นกเงือก' ในภาวะเสี่ยง 'สูญพันธุ์' จากน้ำมือมนุษย์

13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' นักปลูกผู้ปกปักษ์ป่าสมบูรณ์

ด้าน ปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่จากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของ "นกเงือก" แบ่งปันรายละเอียดแต่ละพื้นที่นั้นจะมีปัญหาที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อาจเป็นปัญหาเรื่องของโพรงรังที่ไม่เพียงพอ ส่วนที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีปัญหาเรื่องโพรงรังและการคุกคามจากมนุษย์ เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาลูกเล็กๆ มีหมู่บ้านล้อมรอบ ซึ่งในหมู่บ้านก็จะมีพรานที่ล่านกเงือก เนื่องจากเขาไม่มีความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์แต่หลังจากที่ โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เข้าไปอธิบายและให้ความรู้ ชาวบ้านหลายคนก็เห็นถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือกับโครงการ

“ตอนนี้กิจกรรมบนเขาบูโดเปลี่ยนจากการขโมยลูกนกไปเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงฤดูทำรัง ชาวบ้านก็จะไปเก็บข้อมูลทางวิชาการ ส่วนช่วงนอกฤดูทำรังก็จะช่วยดูแลและซ่อมแซมโพรงรังบนต้นไม้ ทั้งนี้รูปแบบการอนุรักษ์นกเงือกที่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี หรือที่เรียกกันว่า ‘บูโดโมเดล’ ได้รับความสนใจอย่างมากจากต่างชาติ และถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ อีกด้วย” เขาบอก

ขณะที่ พ.ต.ท.จาริพัฒน์ ทองแดง ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 (ผบ.ร้อย กก. ตชด.445) กล่าวว่า หน้าที่หลักของตชด. 445 คือการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงดูแลทรัพยากรธรรมชาติและผืนป่า คือ ป่าพระนามาภิไธย สวนแยก 2 หรือที่หลายคนเรียกว่า ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งเป็นผืนป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ จึงมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ไม่ให้มีผู้บุกรุก ลักลอบทำร้ายสัตว์ป่า รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า

เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปทำโครงการศึกษาวิจัยนกเงือกในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา พวกเขาจึงมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับทีมวิจัย ทำให้ได้ความรู้ และได้เข้าไปดูแลนกเงือก ถึงแม้การดูแลนกเงือกจะไม่ใช่หน้าที่หลักของ ตชด. แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เต็มใจจะช่วย เพราะการจะอนุรักษ์นกเงือกนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทีมวิจัย สื่อมวลชน รวมถึงเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ด้วย

158150139412

ส่วน จ๊อบ-นิธิ สมุทรโคจร นักแสดงและพิธีกร ที่มาร่วมบอกเล่าถึงประสบการณ์การลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และได้สัมผัสกับการทำงาน และอุปสรรคของการอนุรักษ์นกเงือกยอมรับว่า ชีวิตความเป็นอยู่ที่ป่าฮาลา-บาลา ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องระมัดระวังทั้งการใช้ชีวิต และความเป็นอยู่ 

“การเข้าไปที่ป่าฮาลา-บาลาทำให้ผมได้เห็นถึงความลำบาก และตั้งใจของทุกคนในการดูแลนกเงือก ทั้งยังทำให้ได้เห็นความสำคัญ และรับรู้ถึงเหตุผลที่เราต้องดูแลนกเงือก เพราะนกชนิดนี้มีความสำคัญต่อผืนป่า ต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์ต่างๆ ทั้งยังมีความสำคัญต่อชีวิตคนเราอย่างมาก เพราะหากไม่มีนกเงือกเราคงไม่มีอากาศที่บริสุทธิ์อย่างทุกวันนี้ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำได้ในฐานะสื่อมวลชน คือการนำเรื่องราวต่างๆ ของนกเงือกไปเผยแพร่ให้คนในสังคมรับรู้ เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญของนกเงือก และช่วยกันอนุรักษ์ต่อไป”

รายงานทางนิเวศวิทยาระบุว่า นกเงือก ถือเป็นนกขนาดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 45 ล้านปี และมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศป่าจากพฤติกรรมการกินผลไม้กว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่ขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ ดังนั้นนกเงือกจึงเป็นตัวช่วยรักษาความหลากหลายของพืชพรรณ และเป็นนักปลูกป่าชั้นยอด อีกทั้งเป็นผู้ล่าสำคัญที่ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลง หนู และงู ด้วย 

นอกจากนั้น พฤติกรรมการหากินที่ต้องอาศัยพื้นที่ป่ากว้าง รวมทั้งการทำรังอยู่ในโพรงไม้ของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือก จำเป็นต้องเป็นป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้น นกเงือกจึงเป็น ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของนกชนิดนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เปลี่ยนแปลงไป

158150139683

เอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของนกเงือกก็คือ "สัญลักษณ์ของรักแท้" จากการจับคู่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง คู่นกเงือกจะพากันหารังตามโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรงเพื่อกกไข่ ตัวผู้จะทำหน้าที่หาอาหารมาให้ทางปากโพรงจนกว่าลูกนกจะโต อันเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ง่ายต่อการถูกล่า และคุกคามจนทำให้ประชากรนกเงือกในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

การอนุรักษ์นกเงือกจึงไม่ใช่แค่การรักษาชีวิต แต่ยังหมายถึงการดูแลห่วงโซ่ของระบบนิเวศไว้ให้ยั่งยืนไปถึงคนรุ่นต่อไปด้วย