'หนี ซ่อน สู้' วิธีเอาตัวรอดกราดยิง

'หนี ซ่อน สู้' วิธีเอาตัวรอดกราดยิง

แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อเจอกราดยิง "หนี ซ่อน สู้" พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์ควรรู้เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น มีAPP ช่วยเหลือฉุกเฉิน ครอบครัว คนใกล้ชิดอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ อบรมการห้ามเลือด ย้ำหากประชาชนทุกคนรู้จักการห้ามเลือดลดอัตราการสูญเสียได้มาก

วันนี้(11 ก.พ.2563) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดเสวนา เรื่อง"Escape and Survive in Mass Shooting " โดยมีรศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ   ภาควิชาศัลยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเหตุการณ์กราดยิงที่จ.นครราชสีมา ทำให้หลายคนรู้สึกหดหู่ และตอนนี้อาจจะมีหลายคนตื่นกลัว ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ จึงได้จัดเวทีดังกล่าวขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าการกราดยิงเป็นอย่างไร และจะเอาตัวรอดได้อย่างไร  ซึ่งเมื่อเจอเหตุการณ์การกราดยิง

สิ่งแรกที่ต้องทำคือหนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด สังเกตและจดจำทางเข้าออกให้เป็นนิสัย วางแผนคร่าวๆสำหรับการออกจากสถานที่อย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงที่คับแคบ คับขัน และตั้งสติ หากสงสัยว่าจำเป็นต้องอพยพควรรีบไป โดยไม่ลังเลให้เสียเวลา สละทิ้ง เข้าของ ถุงที่หนักและเกาะกะเพราะชีวิตมีค่ากว่ามากนัก ช่วยเหลือคนรอบตัวเท่าที่สามารถทำได้

รศ.นพ.รัฐพลี กล่าวต่อว่า ถ้าหนีไม่ได้ให้ซ่อน   หลบซ่อนให้พ้นสายตาของผู้ก่อเหตุ ปิดไฟมืด ปิดทีวี วิทยุ ปิดเสียงโทรศัพท์ ปิดม่าน ล็อคประตูแน่นหนา ใช้ของหนัก โต๊ะตู้ ที่กีดขวางประตูไว้ แอบหลังหรือใต้โต๊ะตู้ที่แข็งแรง ระหว่างที่ซ้อนขอให้เงียบ ไม่ส่งเสียง ตั้งสติ หากได้ยินเสียงปืน ระเบิดหรือเสียงคน อยู่ห่างจากของมีคม และวัสดุที่อาจจะเบิดได้ พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย หากอยู่กลายคนให้กระจายกันออก ไม่กระจุกรวมอยู่ที่เดียว ขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เสียง เช่น ผ่านSMS  LINE  เป็นต้น

ส่วนการรับรู้ข้อมูลจากสื่อระหว่างติดอยู่ในเหตุการณ์ ปิดเสียง บังแสงหน้าจอ ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลขอให้เลือกเสพ  และถ้าไม่สามารถซ่อนได้ ขอให้สู้และต้องสู้ตาย สู้สุดชีวิต สู้ด้วยทุกอย่างที่มี ด้วยแรงทั้งหมดที่มีเพื่อเปิดโอกาสให้มีคนรอดชีวิต ห้ามอ้อนวอน ขอร้องหรือเจรจา เกลี้ยกล่อม ไม่สู้ตายแน่นอนถ้าสู้สุดชีวิตอาจมีโอกาสรอดได้

เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การกราดยิง

ทั้งนี้ สำหรับสัญญาณอันตรายที่ควรสังเกตขณะอยู่ในที่สาธารณะ หากมีเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงหวีดร้องขอให้สังเกตทิศทางและจำนวนแหล่งที่มาของเสียง  หากมีควันไฟ แสงสว่างจ้าจากเพลิงไฟ หรือระเบิด  ไฟดับ เสียงประกาศเตือน การวิ่งที่ผิดปกติ สับสนวุ่นวาย หรือไปทางเดียวกันอย่างผิดสังเกต ขอให้พึงระวังตนเองไว้ โดยเฉพาะคนที่ชอบก้มหน้าดูมือถือ หรือใส่หูฟังตลอดเวลา นอกจากนั้น เมื่อเกิดเหตุต้องใช้มือถือเพื่อสื่อสารภายนอก ให้ใช้ SMS Line หรือการสื่อสารที่ไม่ต้องใช้เสียง เพื่อการแจ้งเหตุ ตำแหน่งของมือปืนต้นเหตุ จำนวนผู้ก่อเหตุ ลักษณะและการแต่งตัวของผู้ก่อเหตุ จำนวนและประเภทอาวุธ จำนวนผู้ที่ต้องสงสัยว่าบาดเจ็บ

 รศ.นพ.รัฐพลี กล่าวต่อไปว่าการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การกราดยิงหากมีเกิดขึ้นควรรู้เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น 191 1669  มีAPP ช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น จส.100 มีเบอร์โทรศัพท์ ไลน์กรุ๊ป อื่น เพื่อนสนิท ครอบครัว ญาติที่เชื่อใจและติดต่อได้ตลอดเวลา ควรมีการอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ อบรมการห้ามเลือด ก่อนออกจากบ้าน โทรศัพท์มือถือ ควรแบตเต็ม มีแบตสำรอง สายชาร์จ บอกที่มาที่ไปและเวลากลับให้คนที่บ้าน เพื่อนสนิทหากไปเป็นครอบครัวกลุ่มใหญ่ มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก นัดแนะจุดนัดพบหากพลัดหลงกัน

สำหรับผู้ที่มีเด็กเล็กและบุตรหลาน สอนและฝึกให้มีการตื่นตัวและระวังภัยต่อการเกิดเหตุถอดหูฟัง วางมือถือในที่ที่คนหนาแน่น สอนและฝึกให้รู้จักการหนีภัยและการออกจากพื้นที่อันตราย สอนให้รู้วิธีการแอบซ่อน และฝึกให้เงียบไม่ส่งเสียงดัง  ควรมีนม น้ำ ขนม ลูกอมสำหรับเด็กเล็ก ฝึกให้ท่องเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ที่ติดต่อได้ หรือ เขียนใส่กระเป๋าติดตัว  ส่วยเด็กโตอาจสอนและฝีกวิธีตอบโต้เมื่อเข้าตาจน

"นักจิตวิทยา"ฝากฝึกสติ อยู่กับปัจจุบัน

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งที่จะทำให้ทุกคนรอดจากเหตุการณ์ คือ ต้องมีสติ  โดยพยายามรับรู้ลมหายใจ คือ หายใจเข้าลึกๆ และหายใจออกทำปากจู่ ถ้าร่างายสงบลงจะทำให้สติกลับมา และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน หรือการ Grounding อาทิ สัมผัสสิ่งของ มองไปรอบตัว  ฟังเสียง ดูมือ/ขาตัวเอง เหยียบพื้น นับสิ่งของ นับคน ขยำสิ่งที่อยู่ในมือ ดมกลิ้นและเคี้ยว  ซึ่งเมื่อรู้อยู่กับปัจจุบันสมองส่วนที่มีสติ คิดได้จะกลับมา และควรฝึกฝนสติให้อยู่กับตนเองสม่ำเสมอ

ย้ำห้ามเลือด ทุกคนสามารถทำได้ ลดการสูญเศีย

ผศ.นพ.กฤตยา  กฤตยากีรณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าถ้าอยู่ในเหตุการณ์รุนแรง มีอาการบาดเจ็บเสียเลือด ทุกคนสามารถช่วยเหลือผุ้อื่นได้  โดยถ้าถูกยิงที่ศรีษะ มีอัตราการตาย 45% ถ้าแขนขา อัตราการตาย 5-7% ซึ่งถ้าถูกยิงตรงแขนขา ทุกคนสามารถช่วยห้ามเลือดได้ จะช่วยลดการเสียชีวิตได้มากขึ้น  ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ เราต้องช่วยเหลือตนเองให้รอด ขอความช่วยเหลือ และช่วยเหลือผู้อื่นที่มีอาการเลือดออกมากๆ โดยการห้ามเลือด เริ่มจากหาจุดที่เลือดออกว่าอยู่บริเวณไหน  และเลือดออกมากขนาดไหน ซึ่งการห้ามเลือดที่ง่ายที่สุด คือ เอามือกดไว้ตรงบริเวณที่เลือดไว้ตลอด กดไว้ที่นิ่ง จะทำให้หลอดเลือดหดและห้ามเลือดได้  แต่ถ้าเป็นแผลใหญ่ๆ สามารถเอาผ้าสะอาดอัดไปตรงแผลใหญ่ๆ  และกดลงไปที่ผ้าอีกที เพื่อให้เลือดหยุดไหล