‘บีทีเอส’ เก็บหุ้น ‘เจเอ็มที’ ลุยธุรกิจเงินสด

‘บีทีเอส’ เก็บหุ้น ‘เจเอ็มที’ ลุยธุรกิจเงินสด

"บีทีเอส" ผนึก "กลุ่มเจมาร์ท" ทุ่มงบกว่า 500 ล้าน ถือหุ้น "เจเอ็มที" 3.15% ดันธุรกิจสินเชื่อ - ตามทวงหนี้ ครบวงจรหลังทิศทางธุรกิจเงิดสดโตสวนเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมพิจารณาวงเงินสินเชื่อเพิ่มหลัง ปี 62 ปล่อยสินเชื่อแล้ว 2,000 ล้านบาท

จากรายการซื้อขายหุ้น รายการขนาดใหญ่ (Big Lot ) เมื่อวันที่ 5ก.พ. ที่ผ่านมา มีรายการซื้อขายบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จำนวน 28 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.15 % ที่ราคาเฉลี่ย 19.40 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า 543.20 ล้านบาทนั้น

นาย กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง(BTS) เปิดเผยว่า ได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนดังกล่าวซึ่งเป็นการซื้อตามสิทธิ เนื่องจากบีทีเอส ถือหุ้นใน บมจ.เจ มาร์ท จำกัด(JMART) อยู่แล้ว และมีความสนใจจะนำธุรกิจตามทวงหนี้มาดำเนินธุรกิจร่วมกับธุรกิจปล่อยสินเชื่อเงินสดที่บีทีเอสดำเนินการ

โดยธุรกิจดังกล่าวบีทีเอสดำเนินการมานานแล้วแต่มีสัดส่วนรายได้ที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นการร่วมลงทุน ภายใต้ บมจ.วีจีไอ(VGI) ถือหุ้น 51 % ร่วมกับ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์(AEONTS) ถือหุ้น 49% ปล่อยสินเชื่อเงินสด ซึ่งในปี 2562 วงเงินปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 2,000 ล้านบาท

ดังนั้นการมีพันธมิตรที่มาบริหารจัดการตามทวงหนี้ อย่าง JMT ทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้อีก โดยหลังจากเข้าไปถือหุ้นแล้วจะพิจารณาว่าปีนี้จะมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดีในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแต่ประชาชนยังต้องการเงินในการใช้จ่ายที่สูง

‘เดิมก่อนที่จะเข้าไปลงทุนใน เจมาร์ท สนใจธุรกิจของ เจเอ็มที อยู่แล้ว เพราะรายได้และกำไรเติบโตมาตลอดเพียงแต่ยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเมื่อทางบริษัทเสนอก็สนใจเข้าไปลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน ซึ่งเม็ดเงินที่เข้าไปซื้อหุ้นไม่ได้สูงหรือกระทบบีทีเอส ‘

นาย อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ มาร์ท (JMART) กล่าวเสริมว่า ทางบริษัทเชื่อว่าจะมีการร่วมมือทางธุรกิจมากขึ้นกับกลุ่มบีทีเอส จากการเข้ามาถือลงทุนใน JMT โดยที่ผ่านมีการลงทุนใน JMART อยู่ก่อนแล้ว ส่วนจะซื้อหุ้นเพิ่มหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางบีทีเอส

ก่อนหน้านี้ บีทีเอส ได้มีการเข้าไปถือหุ้นเพื่อลงทุนในหลายบริษัท ในช่วงปี 2562 ประกอบไปด้วย บมจ.แพลน บี มีเดีย(PLANB) , บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์(NOBLE) ,บมจ.อาร์เอส(RS,) บมจ.คอมเซเว่น(COM7) และ บมจ.ฮิวแมนิก้า(HUMAM)