ประเทศไหนบ้างที่ ‘หน้ากากอนามัย’ ขาดตลาดช่วง COVID-19 ระบาด?

ประเทศไหนบ้างที่ ‘หน้ากากอนามัย’ ขาดตลาดช่วง COVID-19 ระบาด?

ในช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหา “หน้ากากอนามัย” ขาดตลาด แต่ประเทศอื่น ๆ ก็พบปัญหานี้เช่นกันผลจากกระแสหวาดกลัวไวรัส และราคาหน้ากากอนามัยบางแห่งยังแพงกว่าปกติถึงกว่า 120 เท่า

ภัยร้ายของไวรัสโคโรน่าที่เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่นของจีนและคร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วกว่า 560 คน (นับถึงวันที่ 6 ก.พ.) ทำให้ผู้บริโภคในหลายประเทศ “ตื่นตัว” และ “ตื่นกลัว” อีกทั้งทำให้ความต้องการหรือดีมานด์ของหน้ากากอนามัย สูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

ในญี่ปุ่นก็เผชิญกับสถานการณ์นี้เช่นกัน แม้ว่าโดยปกติ การหาซื้อหน้ากากอนามัยตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ขณะนี้ผู้บริโภคกลับหาซื้อไม่ได้แล้ว

ร้านขายยาแห่งหนึ่งใกล้กับสถานีรถไฟเจอาร์ ชิมบาชิ กลางกรุงโตเกียว ติดป้ายเตือนลูกค้าห้ามซื้อหน้ากากอนามัยเกิน 2 ห่อต่อคนหรือกลุ่ม ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อป้องกันการเหมาซื้อเป็นจำนวนมากและนำไปค้ากำไรเกินควร

ก่อนหน้านี้ ร้านขายยาดังกล่าวคาดการณ์ว่าความต้องการหน้ากากอนามัยจะสูงขึ้นอย่างมาก และได้เตรียมสต็อกไว้มากพอสมควรแล้ว แต่ปัจจุบันสต็อกหน้ากากอนามัยกลับแทบไม่เหลือ พนักงานร้านขายยาบอกว่า บางครั้งต่อให้สั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง แต่กว่าจะได้สินค้าก็ต้องรออีกนาน

158099088186

หญิงชาวญี่ปุ่นวัย 20 ปีเศษคนหนึ่งแวะร้านขายยาอีกแห่งและพบว่า ไม่มีหน้ากากอนามัยหลงเหลือแล้วเหมือนกัน และด้วยความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น เธอจึงเรียกร้องว่า “ฉันอยากให้ทุกคนหยุดซื้อหน้ากากอนามัยไปเพื่อขายต่อ”

  • ราคาหน้ากากพุ่ง 120 เท่า

ในแอพพลิเคชั่นตลาดนัดออนไลน์ “เมอร์คาริ” (Mercari) ของญี่ปุ่นที่เปิดให้คนทั่วไปนำสินค้าทุกชนิดมาจำหน่าย มีผู้ใช้รายหนึ่งจำหน่ายหน้ากากอนามัย 2 ห่อ (1 ห่อมี 7 ชิ้น) ในราคา 99,999 เยน หรือประมาณ 28,300 บาท จากปกติที่จำหน่ายห่อละ 405 เยน หรือราว 115 บาท เรียกได้ว่าสูงกว่าราคาปกติกว่า 120 เท่า

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ผลิตหน้ากากอนามัยก็ประสบปัญหาไม่ต่างกันสมาคมผ้าใยสังเคราะห์ของญี่ปุ่นชี้แจงว่า วัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยเริ่มขาดแคลน และด้วยยอดสั่งซื้ออันล้นหลามทำให้ผู้ผลิตต้องเปิดโรงงานตลอด 24 ชั่วโมงแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งหมดอยู่ดี

ในฮ่องกง ราคาหน้ากากอนามัยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ร้านค้าแห่งหนึ่งจำหน่ายหน้ากาก N95 ในราคา 700 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 2,800 บาทต่อกล่อง (1 กล่องมี 20 ชิ้น) แต่หลังจากนั้น 2 วัน ราคากลับทะยานกว่า 1 เท่าตัว ตอนนี้ราคาหน้ากาก N95 ต่อ 1 กล่องซึ่งมี 50 ชิ้นอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 10,000 บาทแล้ว ขณะที่ราคาในร้านค้าออนไลน์ก็สูงขึ้น

ความคิดหาประโยชน์จากความเดือดร้อนหรือความหวาดกลัวของคนอื่นในช่วงที่มีโรคระบาด อาจสร้างกระแสไม่พอใจในสังคมวงกว้าง ขณะที่ภาครัฐและธุรกิจต่างพยายามที่จะยับยั้งการฉวยโอกาสโก่งราคาสินค้าลักษณะนี้เช่นกัน

  • แต่ละประเทศรับมืออย่างไร

ในญี่ปุ่น อากิโกะ อิโตะ หัวหน้าสำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่น ระบุเมื่อวันพุธ (5 ก.พ.) ว่า การซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อนำมาขายต่อในราคาสูง ๆ ถือเป็น “สิ่งน่ารังเกียจ” พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริโภคกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง และว่า หน่วยงานมีแผนจะทำงานกับองค์กรรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมราคาหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ อิโตะยังขอความร่วมมือจากผู้ดำเนินการตลาดออนไลน์ให้ร่วมจัดการปัญหานี้ด้วย

158105273115

ส่วนในไต้หวัน รัฐบาลประกาศว่ายังมีหน้ากากอนามัยเพียงพอ และอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากต่อวันจาก 1.88 ล้านชิ้นในปัจจุบันเป็น 2.44 ล้านชิ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้น

ในจีน ทางการขู่ว่าจะลงโทษสถานหนักกับพ่อค้าแม่ค้าที่ความผิดฐานโก่งราคาสินค้า โดยก่อนหน้านี้ ร้านขายยาแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งถูกทางการปรับเงิน 3 ล้านหยวน หรือประมาณ 13.4 ล้านบาท ฐานปรับขึ้นราคาหน้ากากอนามัยเกือบ 6 เท่าจากราคาปกติ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นอย่าง “เถาเป่า” และ “เจดีดอทคอม” ต่างสั่งห้ามบรรดาผู้ค้าบนแพลตฟอร์มขึ้นราคาสินค้าเช่นกัน

ในฮ่องกง หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเรียกร้องให้ร้านค้าต่าง ๆ อย่าขึ้นราคาสินค้า ส่วนในเกาหลีใต้ รัฐบาลประกาศว่าจะลงโทษผู้ค้าที่ปรับขึ้นราคาและสร้างความปั่นป่วนในตลาด

  • คุมราคา = บิดกลไกตลาด?

อย่างไรก็ตาม การจำกัดเพดานราคาสินค้าอาจประสบความสำเร็จเรื่องการควบคุมไม่ให้ผู้ค้าจำหน่ายหน้ากากอนามัยสูงเกินไปอย่างเห็นผลและเป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกลับเห็นตรงกันข้ามว่าการห้ามขึ้นราคาสินค้าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและทำให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าจำเป็นได้ยากขึ้น

158099088873

เว็บไซต์ควอตซ์ (Quartz) อ้างว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตลาดทำงานตามกลไกของตัวเอง หมายความว่า ควรปล่อยให้ผู้ค้าขึ้นราคาสินค้าเพื่อสนองความต้องการที่สูงขึ้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานบอกว่า เมื่ออุปสงค์ (ความต้องการ) มากกว่าอุปทาน (ปริมาณสินค้า) ผู้ผลิตก็มีแนวโน้มที่จะปรับราคาสินค้าสูงขึ้น คนที่มีกำลังซื้อและต้องการจ่ายในราคาสูงกว่า เช่น กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสมากกว่า ก็จะเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้

ภาวะราคาสินค้าสูงขึ้นจะคงอยู่ไปจนกว่าจะเกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน และเมื่อทั้ง 2 อย่างนี้สมดุลกัน ราคาสินค้าก็จะขยับลงมาสู่ระดับปกติอีกครั้ง แต่อาจจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย

-----------------------------------------------

ที่มา:

AP

Japan Today

Quartz