ใส่หน้ากากป้องกันตัวเอง จากใจเแท็กซี่ไทยรายแรกติด “โคโรน่า”

ใส่หน้ากากป้องกันตัวเอง  จากใจเแท็กซี่ไทยรายแรกติด “โคโรน่า”

การดูแลและป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ที่ทำได้ง่ายและเป็นผลดีต่อประชาชน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหนาแน่น และผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่ แอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือ

หากมีไข้ร่วมกับอาการ ระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบพบแพทย์ทันที และเพื่อความปลอดภัยไปไหนมาไหนควรใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

วานนี้(5ก.พ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวันของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ได้มีการนำผู้ติิดที่ติดเชื้อรายแรกของประเทศไทยคือคนขับแท็กซี่ ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในไทยรายแรกที่หายดีแล้วมาร่วมแถลงข่าวด้วย โดยเขาได้ฝากเตือนคนขับแท็กซี่ รถสาธารณะ ให้ดูแลตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หากเห็นผู้โดยสารดูป่วย ให้ยื่นหน้ากากให้ จะเป็นการดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย 

  • คนขับแท็กซี่หายดีเปิดใจ

ผู้ป่วยเล่าด้วยเสี่ยงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้าว่า ขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยเหลือดูแลจนหายป่วยแล้ว ซึ่งในวันแรกน้ำตาไหล ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะป่วยติดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 20198 เพราะเป็นคนทำงานต้องดูแลคิดถึงครอบครัว เมื่อมาติดเชื้อความรู้สึกตอนแรกกังวลใจ แต่ได้รับการให้กำลังใจจากผู้อำนวยการสถาบันบำราศฯบอกว่า

“อย่าเครียด กินให้ได้ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัส”และรัฐมนตรีได้มาเยี่ยมและฝากความเป็นห่วงมาเป็นระยะก็ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น ฝากถึงพี่น้องร่วมอาชีพขับแท็กซี่และขับรถโดยสารทุกคน ที่ต้องคลุกคลีกับนักท่องเที่ยว ขอวอนให้ทุกคนหันมาใส่ใจดูแลตัวเอง ซึ่งแท็กซี่เป็นด่านแรกที่ต้องพานักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวบางครั้งอยู่ร่วมกันอย่างน้อย ครึ่งชั่วโมง หากไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวป่วยหรือไม่ ให้ยื่นหน้ากากอนามัยให้ผู้โดยสารใส่ไว้ก่อน ส่วนตัวเองถ้าจับพวงมาลัยขับรถเมื่อไหร่ให้นึกไว้เลยว่าต้องใส่หน้ากากอนามัย"

“แม้ผมติดเชื้อไวรัสนี้ แต่คนในครอบครัวไม่ติด เพราะโดยปกติของครอบครัวแม้แต่การเป็นหวัดเพียงเล็กน้อย หรือไม่สบายที่ไม่ต้องถึงกับให้ยา ก็จะแยกของใช้กันทันที แยกช้อน แก้ว และมั่นใจว่าครอบครัวเมื่อป่วยโรคอื่นจะไม่แพร่เชื้อให้คนนอกบ้านแน่นอน เพราะหากป่วยจะไม่ออกจากบ้านไปคุยกับใครเลย จะได้ไม่มีใครกล่าวหาว่าแพร่เชื้อไปให้คนอื่น แม้ว่าจะเป็นหวัดเล็กๆน้อยๆก็ตาม” ผู้ป่วยรายนี้กล่าว

เขาย้ำว่า แม้ตัวเองจะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 แต่ก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีกับนักท่องเที่ยวหรือคนจีน พี่น้องทุกคนทั่วโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน และนักท่องเที่ยวเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของครอบครัว เพราะส่วนใหญ่จะรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และตอนที่รักษาอยู่ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ ก็ส่งกำลังใจให้ชาวอู่ฮั่นทุกคนให้สู้ เพราะขนาดตนเองยังสู้และหายป่วยแล้ว

อย่างไรก็ตาม อยากขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะพนักงานขับรถสาธารณะ ซึ่งบางคนเมื่อป่วยก็จะกระทบกับรายได้ของครอบครัว อยากให้พิจารณาเรื่องของการชดเชยรายได้ เพราะเป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ และ ยันไม่เคยรู้สึกไม่ดีกับนักท่องเที่ยวหรือชาวจีน เพราะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ระหว่างรักษาตัวให้กำลังใจชาวอู่ฮั่นให้สู้ เพราะตนยังรักษาหายได้เลย 

  • คลีน7 สถานที่ลดเสี่ยงติดเชื้อ   

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีแนวทางในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019กับประชาชน โดยได้จัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ และสื่อความรู้หลายช่องทาง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง และได้รณรงค์ทำความสะอาด  7 สถานที่สำคัญ ลดเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 1.สถานที่ราชการ 2.รถรับจ้างประจำทาง แท็กซี่ 3.ขสมก รถตู้ 4.รถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที 5.ร้านอาหาร 6.โรงแรม 7.ปั๊มน้ำมัน

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมเร่งกำลังการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเพิ่มขึ้น และจัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จากบริษัทผู้ผลิต กระจายลงไปในร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรมเพิ่ม ซึ่งหลังจากครม. เห็นชอบให้หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าควบคุมคาดว่าปัญหาจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยในวันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2563)  จะประชุมร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางป้องกันปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย   

ทั้งนี้หน้ากากอนามัยแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานแตกต่างกัน หน้ากากอนามัยแบบผ้า เหมาะสำหรับคนปกติที่ยังไม่มีอาการป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ สวมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถซักทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ซ้ำ ทำให้ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ส่วนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น 

  • ตั้งกล้องคัดกรองกลุ่มสงสัย

ผศ. นพ. วิชัย เตชะสาธิต แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าผู้ป่วยต่างชาติ ถึงร้อยละ50 หรือกว่า 520,000 รายต่อปี ล่าสุดได้เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ผู้ใช้บริการ และบุคลากร ด้วยมาตรการขั้นสูงสุด  ได้แก่1.ติดตั้งเครื่องThermal Imaging Cameraเพื่อตรวจจับผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายเกินกำหนด ครอบคลุมทุกพื้นที่ 2.เตรียมห้องแยกโรคความดันลบ (negative pressure room) พร้อมด้วยอุปกรณ์และมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น

3.การเข้มงวดและเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์สาธารณะต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคุณภาพสูง มีการกำจัดขยะและของเสียอย่างเหมาะสม4.มีการตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง และประชุมกับผู้ชำนาญการเพื่อปรับแผนรองรับสถานการณ์ตามความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา 5.ให้ความรู้ด้านการป้องกันตนเองแก่ผู้ป่วยและพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มจุดบริการCultural Help Deskให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับอาการและข้อสงสัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาและยังเป็นจุดคัดกรองทุกทางเข้าของอาคาร ปรับผังการขึ้นลงลิฟต์และเส้นทางเข้า-ออกอาคารเพื่อให้ผู้รับบริการต้องผ่านมายังจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องThermal Imaging Cameraและเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือ และผ่านจุดคัดกรองในทุกทางเข้าอาคาร ให้บริการหน้ากากอนามัย เพิ่มบริการจุดวางแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมจัดทำสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไวรัสโคโรนาครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในโรงพยาบาล รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียของโรงพยาบาลอีกด้วย