สภาเภสัชฯ เตือนปชช.อย่าซื้อยารักษาไวรัสโคโรน่ากินเอง

สภาเภสัชฯ เตือนปชช.อย่าซื้อยารักษาไวรัสโคโรน่ากินเอง

สภาเภสัชฯ เตือนประชาชนอย่าหาซื้อยารักษาไวรัสโคโรน่าในอินเตอร์เน็ตกินเอง ยันใช้ป้องกันไวรัสไม่ได้ เสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรมบอกว่า มีความกังวลว่าประชาชนจะตื่นตระหนกหลังได้รับข่าวสารเกี่ยวกับยาสองชนิดที่ใช้รักษาโคโรน่าไวรัส คือ 1.ยา LPV/r ซึ่งเป็นยาสูตรผสมรวมเม็ดของยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาสูตรสำรองที่ใช้สำหรับรักษาเอชไอวี และ 2.ยาโอเซลทามิเวียร์ โดยเป็นยาหลักในการรักษาไข้หวัดใหญ่ แม้ว่ายาทั้งสองชนิดจะสามารถทำให้ผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสมีอาการดีขึ้น เเต่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษา หรือผลวิจัยว่ายาทั้งสองชนิดนี้สามารถใช้รักษาโรคโคโรนาไวรัส จึงไม่สามารถป้องกันโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ จึงอยากฝากเตือนประชาชนว่า ไม่ควรหาซื้อยาทั้งสองชนิดจากในอินเตอร์เน็ตมารับประทานเอง เนื่องจากจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยในระยะยาว หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม หรือสงสัยว่าติดเชื้อควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว

สำหรับในประเทศไทย ยาทั้งสองชนิดอยู่ในทะเบียนยาชนิดควบคุมพิเศษ มีจำหน่ายเฉพาะตามสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่ามีการนำยามาหลอกขายทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงอยากฝากเตือนประชาชนไม่ควรหลงเชื่อ

ด้าน รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น บอกว่า ขณะนี้พบปัญหาเรื่องสิทธิบัตรของยาที่ใช้รักษาโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะยา LPV/r ซึ่งเป็นยาสูตรผสมรวมเม็ดของยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้าหรือผลิตยาโดยรัฐ (CL) ตั้งเเต่ปี 2550 ซึ่งเป็นยาสูตรสำรองที่สองสำหรับรักษาเอชไอวี จากมาตรการ CL ดังกล่าว ทำให้ไทยมียาคุณภาพใช้ในราคาที่ไม่แพงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกราคายาเม็ดละ 74.23 บาท แต่หลังประกาศใช้มาตรการ CL ทำให้ราคายาเหลือเพียงเม็ดละ 13.21 บาท แต่สิ่งที่น่ากังวลคือปัจจุบันมาตรการ CL กำลังตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกกำจัดทิ้ง เพราะเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำกำไรของบรรษัทยาข้ามชาติ และมีความพยายามที่จะขจัดมาตรการ CL ทำให้เกิดการผูกขาดทางยาและบังคับใช้กฏหมายที่เกินเลย ส่งผลให้กลไกการควบคุมราคายาทำได้ยากขึ้น และในอนาคตประชาชนจะเข้าถึงยาชนิดนี้ได้ยากขึ้น

ขณะที่นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์บอกว่า จากการติดตามกฎหมายสิทธิบัตรของยาทั้งสองชนิดที่ใช้รักษาโคโรน่าไวรัสพบว่า กฎหมายยังมีช่องโหว่ ทำให้เกิดการผูกขาดยา ซึ่งยาตัวหนึ่งมีสิทธิบัตรถึง 20 ปี ทำให้คนที่ได้รับเชื้อโคโรน่าไวรัสไม่สามารถเข้าถึงยาชนิดนี้ได้ เช่นเดียวกับกรณีกัญชาของไทยที่ต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตร จนทำให้เกิดการลักลั่นในการนำไปใช้ เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย จึงอยากฝากไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้มีกระบวนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่เช่นนั้นผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือยาสำคัญจะติดสิทธิบัตรไปยาวนานและกีดขวางยาสามัญ ไม่ให้เข้าสู่ตลาดมาแข่งขัน สุดท้ายก็เกิดการผูกขาดจนทำให้ยามีราคาแพงมาก จนกระทบกับหลักประกันสุขภาพของรัฐ และผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น