อว.อัดงบ 250 ล้านดัน 7 มาตรการแก้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5

อว.อัดงบ 250 ล้านดัน 7 มาตรการแก้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดึงองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ ประกาศ 7 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 พร้อมจัดสรรงบ 250 ล้านบาทรองรับ ประกาศนำร่องเหลื่อมเวลาทำงาน เร่งติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นจิ๋ว 8 พันจุดทั่วประเทศ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่อง “ฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ! อว. ระดมผลงานวิจัย หนุน 7 มาตรการผลักดันแก้ปัญหาฝุ่นควัน” ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศกำลังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติ และสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบเชิงลบในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ

อว.โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน จึงพร้อมสนับสนุน 7 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ดังนี้ 1.ลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทุกจุดอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาศัยองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยสาเหตุการสะสมของควันและฝุ่นละอองในอากาศ

อ่านข่าว-กทม.เช้านี้ อากาศแย่อันดับ 7 โลก ชี้ 21 พื้นที่ PM2.5

158073975211

2.มาตรการระยะสั้นเร่งด่วนเพื่อลดฝุ่นจากการคมนาคมหรือลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด เช่น โครงการ Park & Ride (จอดและจร) ด้วยบริการรถรับ-ส่ง จากจุดจอดรถชานเมืองเข้าถึงตัวเมืองโดยสนับสนุนค่าเดินทาง, อว.จะเหลื่อมเวลาทำงานของหน่วยงานของกระทรวง และมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นการนำร่อง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจร และ การเกิดฝุ่นในช่วงเวลาเร่งด่วน

3.ลดและหยุดการเผาในที่โล่ง และบริหารจัดการควบคุมการเผาผ่านระบบสารสนเทศ ให้มีการลงทะเบียนเพื่อจัดกลุ่มและควบคุมช่วงเวลาการเผา โดยอ้างอิงข้อมูลการพยากรณ์สภาพอากาศและทิศทางลมจากเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อลดความหนาแน่นของฝุ่นควันจากการเผา

4.เผยแพร่ข้อมูลค่าฝุ่นแบบทันท่วงที (เรียลไทม์) ที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันได้ ทาง วช.จะเร่งติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น หรือดัสต์บอยให้ได้ 8,000 จุดทั่วประเทศ

5. มาตรการลดผลกระทบสุขภาพ เช่น แจกและรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้, นำเสนอ ครม.ให้ลดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศ อุปกรณ์ความปลอดภัย หน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอุปกรณ์ในราคาที่เหมาะสม, ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศโดยเฉพาะในสถานศึกษา โรงพยาบาล และ พื้นที่บริการสาธารณะ เป็นต้น

6. มาตรการขับเคลื่อนการวิจัยและใช้ประโยชน์จากการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สนับสนุนการวิจัยและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเซ็นเซอร์วัดอนุภาคฝุ่นแบบเรียลไทม์ การพัฒนาและใช้เครื่องลดฝุ่นในรูปแบบต่างๆ, การประกวดนวัตกรรมตรวจวัดและลดฝุ่น การนำวิจัยนวัตกรรมไปจัดการกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา

158073978727

7. มาตรการระยะยาว เช่น การแก้กฎหมายให้มี Thailand Environment Protection Agency ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ, การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยการร่วมหารือและประเมินร่วมกัน, จัดตั้งเครือข่ายบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควัน, การส่งเสริมและควบคุมพัฒนาผังเมือง เพื่อนำไปสู่เมืองรถน้อยและเมืองไร้ควัน

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กระทรวงฯ สนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการด้านคุณภาพอากาศและฝุ่นในปี 2563 ผ่าน 3 กลไกคือ การประกาศเชิญชวนให้นักวิจัยนำเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุน โดยเน้นว่าจะต้องมีโจทย์ที่ชัดเจน, การจับคู่โจทย์วิจัยเฉพาะทางหรือเชิงลึกกับนักวิจัยหรือองค์กรวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ, สร้างกลไกการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการลดปัญหาหมอกควันโดยมีเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการระยะสั้นและกลาง แต่ในระยะยาวแล้วยังต้องเป็นการศึกษาองค์ความรู้ในเชิงลึกยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือว่าองค์ประกอบของฝุ่นจิ๋วมีอะไรบ้าง เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก ฝุ่นจิ๋วจากควันรถแตกต่างจากการเผาพืชไร่อย่างไร ผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ เช่น ฝุ่นจิ๋วที่ถูกฝนชะล้างลงในแหล่งน้ำจะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแพลงก์ตอน สาหร่าย หรือกระทบต่อห่วงโซ่อาหารอย่างไร เพื่อให้การวางแผนแก้ไขเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

158073981279