ผ่อนกฎ 'คลินิกแก้หนี้' เฟส 3 เอ็นพีแอลก่อน 1 ม.ค. 63 ร่วมได้

ผ่อนกฎ 'คลินิกแก้หนี้' เฟส 3 เอ็นพีแอลก่อน 1 ม.ค. 63 ร่วมได้

ด้วยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศที่นับวันสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 หนี้ครัวเรือนทะลุ 13.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.3% ของจีดีพี และหนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

เพราะหากดูภาระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยพบว่า 40 % เป็นหนี้ส่วนบุคคลเพื่ออุปโภคบริโภค มีระยะเวลาผ่อนสั้น ดอกเบี้ยแพง ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด โดยภาระค่าใช้จ่ายที่มีค่อนข้างสูง อาจนำไปสู่ ความเปราะบางเพิ่มขึ้น จากการชำระหนี้คืนในอนาคต

ดังนั้นภารกิจที่ ธปท. พยายามขับเคลื่อนโดยตลอด คือการ “แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน” ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ต้องเข็นต่อในปี 2563 นี้ ทำให้ครั้งนี้ นำไปสู่ การเปิดโครงการ “คลินิกแก้หนี้ระยะที่ 3” เพื่อช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วเข้าโครงการได้เพิ่มขึ้น

“ธัญญนิตย์ นิยมการ” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้เปิดโครงการ คลินิกแก้หนี้ระยะที่ 3 และได้ขยายขอบเขตการเข้าโครงการได้เพิ่มขึ้น 3 เกณฑ์ด้วยกัน คือ 1.ให้สามารถแก้หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีเจ้าหนี้รายเดียวให้สามารถเข้าโครงการได้ จากเดิมที่ ลูกหนี้ต้องมีหนี้ที่มีเจ้าหนี้สอง 2 แห่งขึ้นไป

2.ให้ลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว หรือคดีแดง คดีดำ เข้าโครงการนี้ได้ด้วย และ 3. การปรับคุณสมบัติผู้เข้าโครงการ ให้คนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อน 1 ม.ค. 2563 เข้าโครงการได้เพิ่ม จากเดิมที่กำหนดลูกหนี้ที่เข้าโครงการได้ต้องเป็นหนี้เสียก่อน 1 ม.ค. 2562 เท่านั้น

 นอกจากนี้ในระยะที่ 3 ยังมีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คือธนาคารออมสิน เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย ทำให้มีสถาบันการเงินและนอนแบงก์เข้ารวมเป็น 35 แห่งในปัจจุบัน

การขยายเกณฑ์และการปรับปรุงคุณสมบัติ ในระยะที่ 3 เชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเข้าโครงการได้เพิ่มขึ้น โดยธปท.ตั้งเป้าเห็นลูกหนี้เข้าโครงการและเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้สะสมในสิ้นปี 2563 รวม 8,000 ราย ซึ่งคิดเป็นลูกหนี้ใหม่ราว 5,000รายในปีนี้ โดยเริ่มมีผลแล้วเมื่อ 1 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา

อาจมีคำถามสำคัญว่า การขยายคุณสมบัติให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียใหม่ๆเข้าโครงการได้เพิ่ม เป็นหลัง 1 ม.ค. 2563 เหล่านี้จะทำให้ลูกหนี้ จงใจเป็นหนี้เสียเพิ่มหรือไม่?  "ธัญญนิตย์" ระบุว่า ข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่ ธปท. กังวล แต่วัตถุประสงค์หลักของธปท.คือ ต้องการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหา และเป็นหนี้เสียได้ และเชื่อว่ายังมีหลายวิธีที่ควบคุมได้ เช่นคนที่เข้าโครงการได้ห้ามก่อหนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี ก็อาจทำให้ลูกหนี้มีความไม่คล่องตัวในการขอสินเชื่อใหม่ๆในระยะเวลาเข้าโครงการ อีกทั้งยังทำให้ประวัติทางการเงินเสียด้วย

158074424345

“นิยต มาศะวิสุทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ระบุว่า ยังมีอีก 2 มิติที่ SAM จะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ได้ ทั้งการช่วยรวมหนี้ให้เบ็ดเสร็จ ลูกหนี้จะได้ไม่ถูกทวงจากเจ้าหนี้หลายราย จากเดิมที่การแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จเป็นไปด้วยความยาก เพราะมีเจ้าหนี้หลายราย รวมถึงการผ่อนปรนพิเศษ โดยให้ลูกหนี้ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยมีระยะเวลาผ่อนถึง 10 ปี จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาชำระหนี้สุงสุด 7 ปี

ขณะเดียวกัน SAM มีการปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งการนำเทคโนโลยี การนำช่องทางสื่อสารใหม่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น และทำงานเชิงรุกโดยเปิดให้บริการทั้งวันหยุดและเสาร์อาทิตย์เพิ่มเติม เพื่อรองรับลูกค้าที่ไม่สะดวกมาในวันปกติด้วย

ด้าน “โชคชัย คุณาวัฒน์” รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า นอกจากออมสินจะเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว ธนาคารยังทำโครงการ “Refinance”หนี้บัตรดีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ดี ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้เข้าโครงการได้

โดยโครงการนี้จะลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ โดยคิดดอกเบี้ยเพียง 8.5-10.58 % จากเดิมที่ลูกหนี้อาจมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสุงถึง 18 -28 % ให้มีภาระดอกเบี้ยลดลง โดยโครงการนี้กำหนดวงเงินรีไฟแนนซ์หนี้อยู่ที่ 1 แสนบาทต่อราย โดยโครงการจะเปิดให้เข้า 4 เดือน เริ่ม 1มี.ค.-สิ้นมิ.ย. 2563 นี้ โดยตั้งวงเงินรองรับโครงการนี้ไว้ 10,000 ล้านบาท

“โครงการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ 1 แสนบาท เดิมต้องจ่ายขั้นต่ำ 10% ต้องมีภาระจ่ายถึง 1 หมื่นบาท แต่โครงการนี้ ทำให้ภาระจ่ายลูกหนี้เหลือ 2.5พันบาทต่อเดือน เหลืออีก 7.5 พันบาทไว้ใช้จ่ายได้”