“ธุรกิจท่องเที่ยว” ตั้งการ์ดสู้ งัดมาตรการรับมือ‘โคโรนา’

“ธุรกิจท่องเที่ยว” ตั้งการ์ดสู้ งัดมาตรการรับมือ‘โคโรนา’

จากการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กลายเป็น “มรสุม” ถาโถมธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้ “ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง” ต่างต้องหาแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกัน สกัดการแพร่ระบาดของโรคอย่างทันท่วงที

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เล่าว่า ได้ให้พนักงานทั้งลูกเรือและภาคพื้นใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือทุกครั้งที่ให้บริการผู้โดยสาร

ส่วนตัวเครื่องบินมีการทำความสะอาดระดับDeep Cleanอยู่แล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการทำความสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะเที่ยวบินไป-กลับจากประเทศจีน ทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและอบให้ปลอดเชื้อ

ด้านรถบัสรับส่งผู้โดยสารจากอาคารผู้โดยสารไปยังเครื่องบินที่ให้บริการเที่ยวบินไป-กลับจีน ก็ต้องมีการพ่นน้ำยาและอบให้ปลอดเชื้อเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการตั้งเครื่องตรวจอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินจากฝั่งไทย เพื่อดูว่าใครมีไข้บ้างเพื่อเฝ้าดูอาการ ส่วนเครื่องบิน2ลำใหม่ รุ่นแอร์บัส เอ321นีโอ ที่เพิ่งรับมอบ จากแผนรับมอบรวม5ลำตลอดปีนี้ มีระบบHEPAเป็นฟิลเตอร์ที่ช่วยกรองอากาศได้มากถึง99%

เมื่อถามถึงผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สันติสุข บอกว่า ล่าสุดไทยแอร์เอเชียได้ขยายเวลาการยกเลิกเที่ยวบินทุกเที่ยวบินจากกรุงเทพฯและภูเก็ตสู่เมืองอู่ฮั่น จนถึงวันที่ 29 ก.พ.นี้ จากปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินประจำจากไทยไปจีน รวม 14 เมือง 20 เส้นทาง

ขณะนี้ลูกค้ากรุ๊ปทัวร์จีนบนเที่ยวบินประจำหายไปกว่า 35% ของผู้โดยสารชาวจีนทั้งหมดที่ใช้บริการไทยแอร์เอเชีย หรือคิดเป็นประมาณ2.4-2.5 แสนคน ส่วนลูกค้าชาวจีนที่ใช้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำหายไปกว่า 8 หมื่นคน รวมตลอดไตรมาสที่ 1 นี้คาดหายไปกว่า 3.3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าเมื่อจีนสามารถยุติการแพร่ระบาดของโรคได้ชาวจีนที่รู้สึกอัดอั้นจะกลับมาเที่ยวไทยใน 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ โดยระหว่างนี้ต้องการให้ภาครัฐสื่อสารให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมั่นใจ ไม่ต้องกลัวการขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียมีแผนนำเครื่องบินใหม่ แอร์บัส เอ321นีโอ ไปเปิดเส้นทางบินใหม่สู่เมืองทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยเส้นทางที่คาดว่าจะเปิดให้บริการแน่นอนคือฟุกุโอกะราวเดือน พ.ค.นี้ ส่วนเมืองอื่นๆ อย่างฮิโรชิมะและโอกินาวะยังอยู่ระหว่างการศึกษา

จินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี บอกว่าเบื้องต้นได้วางวิธีปฏิบัติงานป้องกันโรคระบาด ภายใต้มาตรฐานการควบคุมของระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ หรือ มอก.22300 (TIS 22300)เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มาร่วมงานประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ตลอดจนผู้มาชมคอนเสิร์ตต่างๆ

สำหรับรายละเอียดการเฝ้าระวังและป้องกัน อาทิ เตรียมเจลล้างมือบริการลูกค้า ณ ทางเข้าอาคารหลัก ห้องประชุมย่อย รวมถึงห้องน้ำ เพื่อใช้ทำความสะอาด, ติดตั้งเครื่องเทอร์มัลสแกน บริเวณทางเข้าอาคารหลักและหน้างาน สำหรับคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย และผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องคัดแยกเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาคาร, จัดเตรียมอุปกรณ์เทอร์มัลกัน สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ คัดกรองผู้ป่วย พร้อมเตรียมห้องปฐมพยาบาลเพื่อคัดกรองผู้ป่วย โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

ประสานทีมแพทย์และพยาบาลจากสถาบันบำราศนราดูร ให้การช่วยเหลือสนับสนุนทางการแพทย์, จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรค , เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดอาคาร เป็นต้น

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ขณะนี้หลายๆ โรงแรมได้ให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงาน รวมถึงพนักงานต้อนรับตรง Front Desk ที่มีโอกาสพบปะกับแขกมากที่สุด พร้อมเตรียมเจลล้างมือในจุดต่างๆ และทำความสะอาดห้องพักและพื้นที่ต่างๆ ภายในโรงแรมอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันเชื้อโรคส่วนนโยบายการคืนเงินแก่ลูกค้าทัวร์จีน หลังรัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้บริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศเมื่อวันที่24ม.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่าแต่ละโรงแรมมีนโยบายไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะช่วยเก็บเครดิตเอาไว้ และเลื่อนวันการเดินทางออกไปก่อนสำหรับตลาดกรุ๊ปทัวร์

ส่วนตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) โรงแรมไม่สามารถเก็บเครดิตไว้ให้ลูกค้าได้ เพราะเป็นการจองผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA)ต้องขอความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยช่วยประสานกับOTAเพื่อดูแลเอฟไอทีชาวจีน