เชื้ออู่ฮั่นลาม‘ตลาดหุ้น’ ค่ายรถในจีนย้ายคนงานหนี กลุ่มอิเล็กฯ กระทบหนัก

เชื้ออู่ฮั่นลาม‘ตลาดหุ้น’ ค่ายรถในจีนย้ายคนงานหนี กลุ่มอิเล็กฯ กระทบหนัก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังคงส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าทะลุระดับ 9,000 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่า 200 คน

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่และพบการติดเชื้อจากคนสู่คนเพิ่มขึ้นนอกประเทศจีน

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ตัวเลขการระบาดของไวรัสโคโรนายังเพิ่มมากขึ้น ตามการรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันการติดเชื้อขององค์การอนามัยโลก ขณะที่อัตราการตายอยู่ในระดับกว่า 2% แม้ว่าอัตราการตายของผู้ที่ติดเชื้อไว้รัสครั้งนี้จะต่ำกว่าโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นคล้ายกัน ทั้ง SARS และ MERS ซึ่งมีอัตราการตาย 10% และ 30% ตามลำดับ แต่ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดจะขยายตัวได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา

ผลที่เกิดขึ้นคือ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขการระบาดและตัวเลขผู้เสียชีวิตเร่งตัวขึ้น ดังนั้นเราจึงทำการรวบรวมหุ้นภายใต้การวิจัยของเรา เพื่อประเมินถึงสัดส่วนรายได้ที่เกี่ยวข้องกับจีนว่ามีโอกาสกระทบมากน้อยเพียงใด โดยจากการพิจารณาจะพบว่ากลุ่มท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน เป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ที่เกี่ยวข้องกับจีนเฉลี่ยราว 5-15%

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาของกลุ่มดังกล่าวก็ปรับตัวลงตอบรับปัจจัยลบในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นอาจจะเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะกลางถึงยาว สามารถทยอยตั้งรับหุ้นพื้นฐานดีเพื่อรอโรคระบาดคลี่คลายลง ซึ่งจะหนุนราคาหุ้นฟื้นตัวได้ในช่วงถัดไป แนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบมจ.ไทยออยล์ (TOP)

อ่านข่าว
เจาะเรื่องลับ 'ไวรัสโคโรน่า' และอัพเดตข้อมูลที่ต้องรู้!

ขณะที่เดียวกัน ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงตอบรับความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน แต่ก็มีหลายบริษัทที่ราคาหุ้นปรับลงแรง แม้ว่าแทบจะไม่มีรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับจีนเลย ดังนั้น เราเชื่อว่าหุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสฟื้นตัวสูง อาทิ STEC HMPRO OSP และ JMT

บล.ทิสโก้ ระบุว่า หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และโรงแรม เป็นสองกลุ่มหลักที่จะถูกกดดันจากโรคระบาดในครั้งนี้ สำหรับการปรับตัวลงของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลจากผู้ประกอบการยานยนต์รายใหญ่ได้ย้ายคนงานออกจากจีน ทำให้การผลิตลดลง ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ บมจ.เคซีอี อีเลคทรอนิคส์ (KCE) มีรายได้ที่มาจากกลุ่มยานยนต์สูงถึง 70% รองลงมาคือ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) ที่ 17% บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) ที่ 14% และบมจ.เอสวีไอ (SVI) ที่ 9% โดยกำลังผลิตที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มนี้ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ปี 2563

โดย KCE น่าจะมีผลกระทบมากสุดตามสัดส่วนรายได้จากกลุ่มยานยนต์ คาดว่าผลประกอบการจะลดลง 5.8 – 8.3% ในเดือนที่มีการหยุดผลิต อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าโตโยต้าจะไม่มีโรงงานในจีน

ขณะที่กลุ่มโรงแรม จะถูกกระทบจาก 3 กรณี คือ การยืดระยะเวลาการแบนนักท่องเที่ยวจีน การห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศ และการแพร่ระบาดในไทย ซึ่งทั้ง 3 กรณี จะกระทบต่อกลุ่มโรงแรมในไทย โดยที่ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) จะถูกกระทบมากสุด อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น ERW ลดลงมาใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดโรค SARS แล้ว จึงแนะนำเข้าซื้อ แต่ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย หากพุ่งสูงขึ้น ERW จะถูกกระทบมากสุด

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า มีมุมมองเชิงลบต่อการที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามกรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมองว่า ERW น่าจะได้รับผลกระทบมากสุด รองลงมาคือ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และบมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ตามลำดับ

โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยปีละประมาณ 10 - 11 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หากอิงจากสมมติฐานสมาคมการท่องเที่ยวไทยที่คาดการสั่งห้ามกรุ๊ปทัวร์เดินทางกินระยะเวลา 2 เดือน คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากปกติราว 12% ในปีนี้ และหากพิจารณาเฉพาะไตรมาส 1 ปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนน่าจะลดลงถึง 40% และอาจกระทบนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นด้วย

บล.หยวนต้า ประเมินผลกระทบต่อธุรกิจสนามบิน คือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) โดยแนะนำหลีกเลี่ยงชั่วคราว เนื่องจากรายได้ของ AOT ราว 42% ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารที่เดินทาง โดยผู้โดยสารต่างชาติเป็นสัดส่วนสำคัญ เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่ 700 บาทต่อราย สูงกว่าผู้โดยสารในประเทศที่เพียง 100 บาทต่อราย