สธ.ชี้ 'ความรุนแรงอาการป่วย'จากไวรัสโคโรน่าทั่วโลกแนวโน้มลดลง

สธ.ชี้ 'ความรุนแรงอาการป่วย'จากไวรัสโคโรน่าทั่วโลกแนวโน้มลดลง

ช่วงเช้า(30 ม.ค.) สธ.ชี้ความรุนแรงโรคจากไวรัสโคโรนาแนวโน้มลดลง ผู้ป่วยนอกจีนยังไม่มีคนตาย ส่วนใหญ่อาการน้อย ผู้ป่วยในไทยรักษาหายกลับบ้านได้อีก 1 ราย เหลือรักษาในรพ.8 ราย อาการดีขึ้น เฝ้าระวังผู้ต้องสงสับอีก 135 ราย รวมคนไทยด้วย

ช่วงเช้า(30 ม.ค.) สธ.ชี้ความรุนแรงโรคจากไวรัสโคโรนาแนวโน้มลดลง ผู้ป่วยนอกจีนยังไม่มีคนตาย ส่วนใหญ่อาการน้อย เผยผู้ป่วยในไทยรักษาหายกลับบ้านได้อีก 1 ราย เหลือรักษาในรพ.8 ราย อาการดีขึ้น เฝ้าระวังผู้ต้องสงสับอีก 135 ราย รวมคนไทยด้วย กำชับตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกจังหวัด ขณะที่อภ.สำรอง “หน้ากาก ยา เวชภัณฑ์” เพียงพอรับมือ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ประจำวันกรณีโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ไทยยืนยันพบผู้ป่วยที่พบในประเทศเท่าเดิม 14 ราย เป็นผู้ติดมาจากต่างประเทศทั้งหมด ในจำนวนนี้รักษาหายจนปลอดเชื้ออนุญาตให้กลับบ้านไปก่อนหน้านี้ 5 ราย ล่าสุดวันที่ 30 มกราคม แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่มเติมได้อีก 1 ราย รวมเป็น 6 ราย ที่ไทยรักษาหายจนปลอดเชื้อ เหลือผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.)อีก 8 ราย ยังอยู่ในห้องแยกโรค ไม่มีรายใดอาการรุนแรง รอรักษาจนกว่าจะไม่มีเชื้อในตัวจะอนุญาตให้กลับได้

สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสมจนถึงปัจจุบันรวม 202 คน อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 67 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 135 ราย โดยในวันที่ 29 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายใหม่ 44 ราย ทั้งนี้ในจำนวนที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังนั้นมีคนไทยรวมอยู่ด้วย โดยเป็นคนขับแท็กซี่ 2 ราย ที่สอบประวัติพบว่ามีการรับนักท่องเที่ยวจีน เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจหาเชื้อที่ห้องแล็บ 2 แห่ง คาดว่าจะทราบผลภายใน 1-2 วันนี้ อย่างไรก็ตาม อาการเบื้องต้นไม่มีอะไรน่ากังวล

ชี้แนวโน้มความรุนแรงโรคลดลง
“แนวโน้มความรุนแรงของโรคจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 ลดลง เพราะปัจจุบันพบผู้ป่วยใน 17 ประเทศ มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่มีผู้เสียชีวิต ส่วนประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด และผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่ได้รุนแรง รวมถึง ในไทยที่ผลการรักษาดีในผุ้ป่วยที่ยืนยีนตอนนี้”นพ.โสภณกล่าว
ตั้งศูนย์ฯฉุกเฉินทุกจังหวัด
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับวันที่30 มกราคม2563 ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)และโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาด โดยเน้นวางระบบการเฝ้าระวัง จากปัจจุบันที่ทำที่สนามบินเป็นหลัก ก็จะเพิ่มการเข้าไปในชุมชน ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกจังหวัด และขอความร่วมมือจากประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย โดยคนที่ไม่ป่วยขอให้ใช้หน้ากากผ้าทำเองเพื่อป้องกันและลดขยะ ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์โดยให้นำด้านที่เป็นสีเขียวออกข้างนอก นำสีขาวที่มีความอ่อนนุ่มไว้ด้านใน ส่วนหน้ากากอนามัยชนิด N95 เป็นหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรค

ต่อข้อถามถึงมาตรการดูแลนักศึกษาจากอู่ฮั่นเมื่อกลับมาไทย นพ.โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงการต่างประเทศดูแลอย่างดี ทุกรายไม่มีอาการป่วย และอยู่คนเดียวไม่ได้ออกไปมาประมาณ 7 วันแล้ว ดังนั่นเมื่อกลับมาไทยแล้วอาจจะให้อยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่ไม่ป่วยมาอยู่โรงพยาบาล แต่ก็จะมีการติดตามอาการใกล้ชิดพร้อมแจกปรอทวัดไข้ตัวเอง ซึ่งคิดว่ามาตรการนี้เพียงพอแล้ว

อภ.สำรองหน้ากากอนามัย5แสนชิ้น
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงการสำรองยาและเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า องค์การเภสัชกรรม ได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินถึงสถานการณ์ว่าจะต้องมีการเตรียมสำรองหน้ากาก ยา และเวชภัณฑ์ต่างมากน้อยแค่ไหนตลอด ทั้งนี้ในส่วนของหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95 และหน้ากากสำหรับดูแลประชาชนทั่วไปนั้นขณะนี้มีการสำรองไว้ประมาณ 500,000 ชิ้น ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องหน้ากากอนามัย เพราะจะมีเพียงพอแน่นอน เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยแล้วก็ยังมีในส่วนของห้างร้านที่มีการนำมาจำหน่ายด้วย ส่วนพื้นที่ที่หน้ากากขาดแคลนในขณะนี้นั้น คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะกระจายไปได้ทั่วประเทศ ส่วนเรื่องเจล ล้างมือก็มีการเตรียมพร้อมไว้แล้วเช่นกัน

“การเตรียมยานั้น เนื่องจากขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีการประกาศว่ายาที่จะใช้ในการรักษาที่ชัดเจนคือยาตัวใด แต่เราก็จะมีการสำรองยาบางชนิดที่มีการแนะนำกัน เช่นที่มีกระแสข่าวว่ามีการนำยาต้านไวรัสเอดส์มาใช้นั้นทางองค์การเภสัชกรรมก็มีการสำรองไว้แล้วเช่นกัน รวมถึงมีการเช็คกำลังการผลิตยาขององค์การเภสัชกรรมก็มีความพร้อมหากเกิดภาวะฉุกเฉินก็สามารถผลิตอย่างเพียงพอเช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องมีการติดตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด”วิฑูรย์กล่าว 

อ่านข่าว
เจาะเรื่องลับ 'ไวรัสโคโรน่า' และอัพเดตข้อมูลที่ต้องรู้!